หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 98 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 98 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 98 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 5 (ลำดับที่81-102)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 98
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2557


ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน วางกายให้สบาย วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา เราได้ทำความเข้าใจกับใจของเราแล้วหรือยัง ทำความเข้าใจกับกายของเราแล้วหรือยัง เพียงแค่การเจริญสติให้ต่อเนื่องเชื่อมโยง พวกเราก็ยังทำกันได้ยากอยู่ ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก หลวงพ่อก็เพียงได้แค่พูด ชี้แนะวิธีอุบายแนวทาง


หลักการจริง ๆ แล้ว พวกท่านจงพยายามทำตั้งแต่ตื่นขึ้นมา การเกิดของใจ ใจที่ปกติเป็นยังงี้ ความหมายเป็นยังงี้ อาการของความคิดเป็นยังงี้ ใจเคลื่อนเข้าไปรวมกับความคิด รู้เท่าทันใจจะแยก ใจจะหงาย แยกรูปแยกนาม การตามทำความเข้าใจทุกเรื่องอีก ชี้เหตุชี้ผลเห็นเหตุเห็นผลอีก แต่การทำบุญให้ทานทุกคนมีกัน ปรารถนากันอยู่ ก็ต้องพยายามศึกษาให้ละเอียด เป็นชีวิตของเราที่จะต้องชี้แนะตัวเอง แก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเราเอง


อะไรคืองานสมมติ อะไรคืองานวิมุตติ กายของเราทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร วิญญาณในกายทำหน้าที่อย่างไร ทำไมวิญญาณหรือว่าตัวใจทำไมถึงเกิด ทำไมถึงหลง เขาเกิดมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เราก็ไม่รู้หรอก เขาหลงมาตั้งนาน เราพยายามเจริญสติเข้าไปอบรม บ่ม ควบคุมดูแล ชี้เหตุชี้ผล ดับความเกิด คลายความหลง ละกิเลส ดับความเกิด หนุนกำลังสติปัญญาไปทำหน้าที่แทนใจของเราให้ได้ เราอาจจะควบคุมใจของเราได้อยู่เป็นบางเรื่อง บางครั้งบางคราว แต่เราไม่ได้ทุกเรื่อง เราก็ต้องพยายาม ไม่ได้ ไม่ถึงจุดหมายวันใดก็ถึงจุดหมายวันหนึ่ง ตราบใดที่เรายังสนใจอยู่ อย่าไปปิดกั้นตัวเราเอง ว่าหมดโอกาส หมดเวลา หมดสมัย ไม่ใช่!


ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ทันสมัยที่สุด ทุกศาสนาทันสมัยหมด แต่พระพุทธศาสนาท่านสอนสูงที่สุดกว่าทุกศาสนาอื่นคือเรื่องหลักของอนัตตา ความว่างเปล่า ศาสนาอื่นนั้นก็อยู่ในระดับของพรหมวิหาร ความเมตตาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่พุทธศาสนาท่านให้สูงขึ้นไปอีก คือหลักของ ‘อนัตตา’ การปล่อย การวาง การรับผิดชอบด้วยสติด้วยปัญญา รับผิดชอบต่อตัวเราเสียก่อน รับผิดชอบต่อใจของเรา ต่อสมมติของเรา ทำไมเราถึงลำบาก เราขาดตกบกพร่องอะไร ทำไมเราต้องค้นให้ลึกๆ ค้นหาไม่เจอก็เป็นเรื่องของกรรม วิบากของกรรม มาด้วยแรงเหวี่ยงของกรรม กรรมอดีต กรรมอนาคต กรรมอยู่ปัจจุบัน เราต้องดูรู้ ถ้าใจของเราคลายออกจากคิด เราจะเข้าใจในเรื่องกรรม ถ้าเราแยกรูปแยกนามได้ เราก็จะเข้าใจในความเกิดความดับของจิตวิญญาณ ของอาการของวิญญาณ


อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน อะไรเป็นประโยชน์ ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์ใกล้ประโยชน์ไกล การได้ยินได้ฟังได้อ่าน ทุกคนศึกษากันมามาก ปัญญาเก่า ปัญญาโลกีย์ เราเปลี่ยนปัญญาโลก ปัญญาโลกีย์ให้เป็นปัญญาธรรม ถ้าใจของเราคลายออกจากขันธ์ห้า เราละกิเลสได้ ปัญญาที่เราศึกษาเล่าเรียนมาก็กลายเป็นปัญญาธรรม จะคิดเรื่องอดีต คิดเรื่องอนาคต ก็เป็นสติปัญญาคิด ใจว่างรับรู้อยู่ การพูดง่าย การลงมือ การละกิเลส การสำรวจ การทำความเข้าใจ กายวิเวกเป็นยังงี้ ใจวิเวกเป็นยังงี้ ลักษณะของการเจริญสติเป็นยังงี้ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา สติพลั้งเผลอได้ยังไง กิเลส เหตุจากภายนอกมาทำให้ใจเกิดหรือเกิดจากภายใน


กายของเรานี่เป็นก้อนบุญ เป็นก้อนกรรม เป็นก้อนของกิเลส ถ้าเรามาสังเกต มาวิเคราะห์ดีๆ แล้วเราจะเห็นของดีเยอะ กว่าเราจะรู้ความเป็นจริงได้ เราก็ต้องอาศัยสร้างบุญสร้างบารมี ไม่ใช่ว่าทำปุ๊บจะได้ปั๊บ เหมือนกับการปลูกผลหมากรากไม้สักต้น เราจะเร่งให้ออกดอกออกผล ให้สุกวันเดียวก็ไม่ได้ เราต้องหมั่นดูแล ให้น้ำให้ปุ๋ย ให้ความอุดมสมบูรณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง จิตใจก็เหมือนกัน


การเจริญสติมีหรือไม่ การละความเกียจคร้าน การสร้างความเพียร การสังเกต การวิเคราะห์ การละกิเลสออกจากจิตจากใจของเรา เราละทีนั้นทีนี้ ใจไม่เกิดกิเลสมันก็ปกติ มันก็ว่าง คำว่า ‘ปกติ’ ความหมายว่าอย่างไร คำว่า ‘ศีล’ หมายความว่าอย่างไร คำว่า ‘สมาธิ’ หมายความว่าอย่างไร คำว่า ‘ปัญญา’ เป็นลักษณะอย่างไร ศีล ความปกติเป็นลักษณะอย่างนี้ คือใจปกติ ปกติระดับไหน ระดับต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ หรือระดับกาย ระดับวาจา เพียงแค่ ‘ศีลสมมติ’ ศีลสังคมก็ยังทำความเข้าใจกันไม่กระจ่าง คือศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ศีลสมมตินี่แหละ เราก็ต้องทำความเข้าใจ


‘ศีลวิมุตติ’ คือศีลที่ใจคือปกติ เราต้องศึกษาให้ละเอียด เข้าถึงความหมายนั้นๆ ทั้งที่มีอยู่ในกายในใจของเราหมด แต่เราจะทำให้ต่อเนื่องกันหรือไม่เท่านั้นเอง


ส่วนใจที่เป็นสมาธิ หรือว่าใจที่ปกติ ปราศจากการเกิดเป็นอย่างไร ใจที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างไร ใจที่ปล่อยวางขันธ์ห้า ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร สมาธิที่ละกิเลสออกจากใจของเราให้ได้หมด เขาเรียกว่า ‘สมาธิธรรมชาติ’ ที่ปราศจากกิเลส สมาธิด้วยการข่มเอาไว้ อย่างเช่นเรามากำหนดลมหายใจ หรือว่าเอาคำบริกรรมเข้าไปกำกับ อันนี้เขาเรียกว่า ‘สมาธิข่ม หรือว่าหินทับหญ้า’ ถ้าเผลอเมื่อไหร่เขาก็ไป


ถ้าเราแยกรูปแยกนามได้ ทำความเข้าใจได้ ขันธ์ห้าเป็นอย่างนี้ ที่ท่านบอกว่าให้รอบรู้ในกองสังขาร ให้รอบรู้ในขันธ์ห้า แล้วก็รอบรู้ในโลกธรรมแปดที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทุกเรื่องในชีวิตของเรา เราต้องศึกษาให้ละเอียด แต่ต้องให้รู้ฐานของใจให้ได้ รู้ฐานของใจให้ได้ แล้วก็ละกิเลสให้เข้าถึงฐานตัวใจของเราให้ได้ ปฏิบัติธรรมไม่รู้จักใจ มันจะรู้ธรรมได้อย่างไร เจริญสติไม่รู้จักลักษณะของสติ ไม่รู้จักความเชื่อมโยง ไม่รู้จักต่อเนื่อง มันจะไปรู้ความจริงได้ยังไง


เราก็ต้องต้องพยายาม ฝึกฝนตัวเรา แก้ไขตัวเรา ปัญหาทุกอย่างก็อยู่ที่เรา เป็นเรื่องของเราทั้งนั้น แก้ไขตัวเราอยู่ตลอดเวลา สักวันหนึ่งก็คงเดินถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าเราสังเกตทันใจก็จะคลายออกจากความคิด ตามดูรู้เห็นความเป็นจริง ใจเกิดกิเลสเราก็ละกิเลสทีนั่นทีนี้ เพื่อจะเบาบางลงไปเรื่อย ๆ จิตใจของเราก็จะยกระดับชั้นขึ้นไปเรื่อยๆ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ เราไม่อยากจะได้ความบริสุทธิ์ เราก็ได้ เราไม่อยากจะได้ความสะอาด เราก็ได้


การได้ยินได้ฟังนี้ บางทีเห็นพูดอะไรฟังไม่รู้เรื่อง เพราะว่าเรายังเข้าไม่ถึง ถ้าเราเข้าถึงแล้ว พูดอะไรเนี่ยน้อมดูใจของตัวเรา ใจของเราเป็นอย่างงั้น ใจของเราเป็นอย่างนี้ เราดับได้ระดับนั้นระดับนี้ จะมีความสุข มีความสนุกสนาน กิเลสตัวไหนมาเล่นงานเรา เราพลั้งเผลอให้กิเลสหรือไม่ กิเลสเกิดขึ้นจากใจโดยตรง หรือว่าเกิดขึ้นจากเหตุมาจากภายนอกมาทำให้ใจของเราเกิด เราก็จะได้ฟังธรรมตลอดเวลา


มีคนมาพูดมาด่ามาว่าเราก็ได้ฟังธรรม ใจของเราเกิดหรือไม่ ตากระทบรูป ใจของเราเกิดความยินดียินร้ายหรือไม่ ถ้าเราเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เราก็เป็นการยุ่งเกี่ยวด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยเหตุด้วยผล ถ้าจะหลบหลีก ก็หลบหลีกด้วยสติด้วยปัญญา อยู่ด้วยปัญญาล้วนๆ ก่อนที่จะอยู่ด้วยปัญญาล้วนๆ เราต้องศึกษาให้ละเอียด ให้ปรากฏขึ้นที่ใจ หมดความสงสัย หมดความลังเลในพระรัตนตรัย ในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ พระพุทธเจ้าก็จะมาอยู่กับใจของเรา ไม่ต้องไปหาที่ไหน


ถ้าเราเจริญสติเข้าไป หมั่นพร่ำสอนใจของตัวเรา สติปัญญานี่แหละเป็นอาจารย์คอยพร่ำสอนใจของเรา ชี้เหตุชี้ผลจนใจยอมรับความเป็นจริงได้ มองเห็นเหตุเห็นผล ไม่ต้องไปตามหาที่ไหน ตื่นขึ้นมาก็รีบดูรีบแก้ไขเรา หมดความสงสัยเท่านั้นเอง


ก็ขอให้ทุกคนจงเดินให้ถึงจุดหมายปลายทางกันให้เร็วให้ไว ไม่ถึงภพนี้ก็ ไม่ถึงวันนี้ก็วันหน้า ไม่ถึงวันหน้า เดือนหน้าก็ปีหน้า ถ้าไม่ถึงจริงๆ ก็ไปต่อเอาภพหน้า เพราะว่าตราบใดที่ใจยังเกิดอยู่ ก็ต้องพยายามกัน


เอาล่ะวันนี้ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจกันเอานะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง