หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 87 วันที่ 22 กันยายน 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 87 วันที่ 22 กันยายน 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 87 วันที่ 22 กันยายน 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 5 (ลำดับที่81-102)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 87
วันที่ 22 กันยายน 2557


เจริญธรรมญาติโยมทุกคนทุกท่าน ขอให้ญาติโยมจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก กระตุ้น รับรู้ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจ ที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ต่อเนื่อง ให้ชัดเจน วางกายให้สบาย วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ


ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ ให้เป็นระเบียบ อย่าไปบีบบังคับลมหายใจ อย่าไปเพ่ง การเพ่ง ถ้าเราเพ่ง สมองส่วนบนก็จะตึง ถ้าเราเอาใจไปจดจ่ออยู่ที่ปลายจมูกของเรา หน้าอกก็จะแน่น เพียงแค่ให้เรามีความรู้สึกรับรู้ ว่าลมวิ่งเข้าวิ่งออกให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง อันนี้เขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ ความรู้ตัว รู้กาย รู้ลมหายใจเข้าออก ให้มีสติรู้กายอยู่ปัจจุบัน เวลาหายใจเข้าหายใจออกให้ต่อเนื่อง ให้เชื่อมโยง


ถ้าเรามีความต่อเนื่องเชื่อมโยง เราก็จะรู้ลึกลงไปอีก เวลาใจเกิดการปรุงแต่ง การก่อตัว การเกิดอาการของใจ หรือว่าความคิดที่จะเกิดจากตัวใจ หรือว่าความคิดที่เกิดจากอาการของขันธ์ห้า เขาผุดขึ้นมาได้อย่างไร ใจเคลื่อนเข้าไปรวมได้อย่างไร ตรงนี้แหละสำคัญมากทีเดียว


ใจไปรวมกับความคิด ทำให้เกิดอัตตาตัวตน ทำให้หลงไปหมดทุกอย่าง ปัญญาทางสมมติเราอาจจะว่าเราไม่หลง ตราบใดที่เราเจริญสติให้ต่อเนื่อง ให้เชื่อมโยงให้ได้เสียก่อน เราก็จะรู้ว่าแต่ก่อนโน้น สติเรามีอยู่เพียงแค่สติปัญญาในทางสมมติ อาจจะถูกต้องในทางสมมติ ถ้าเรามาสร้างให้ต่อเนื่องจนกระทั่งเข้าไปรู้ลักษณะของใจ ใจที่ปกติเป็นอย่างไร ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร ใจที่คลายออกจากขันธ์ห้าซึ่งเป็นส่วนนามธรรมกันเป็นอย่างไร บางคนบางท่านก็เรียกว่า ‘วิญญาณในกายของตัวเรา’ เห็นความเกิดความดับ เห็นการเข้าไปรวมเข้าไปร่วม เห็นกิเลสเกิดขึ้นที่ใจ กิเลสหยาบเป็นอย่างไร กิเลสละเอียดเป็นอย่าไร รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่างๆ ที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวมันเป็นอย่างไร


ถ้าเรามีสติปัญญา มีสติ สร้างสติให้ได้เสียก่อน จนรู้เท่าทันก็จะเริ่มเป็นปัญญารู้เท่าทัน รู้ไม่ทันเราก็พยายามหยุด พยายามดับ แล้วแต่อุบาย แล้วแต่วิธี ใช้สมถะบ้าง กำหนดลมสร้างความรู้ตัวอยู่ที่ลมหายใจบ้าง อยู่ที่การเดินบ้าง สารพัดเรื่องที่จะเอาเขาอยู่


เราต้องใช้ปัญญา ใช้สติ ใช้ปัญญาให้แหลมคมเร็วไว รู้เหตุรู้ผล รู้เท่าทัน รู้เท่ารู้ทัน ต่อไปข้างหน้าก็รู้ ทำความเข้าใจ แล้วก็รู้กันรู้แก้ แล้วก็รู้ก่อน ละออกให้มันหมด อะไรควรดำเนินหรือไม่ควรดำเนิน ผิดพลาดแก้ไขใหม่ ผิดพลาดแก้ไขใหม่ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ อย่าปิดกั้นตัวเราเอง อยู่คนเดียวเราก็พยายามรู้ใจเรา อยู่หลายคนเราพยายามรู้ใจของเรา


ตามสภาพเดิมนั้น ใจของทุกคนนั้นสะอาดมาแต่ก่อน เพราะความไม่รู้เขาถึงเกิด การเกิด เขาเกิดมาในภพมนุษย์ เขามาสร้างภพมนุษย์ มาสร้างขันธ์ห้ามาปิดกั้นตัวเองเอาไว้ แล้วภายในกาย ภายในขันธ์ห้าของตัวเรานี้ มีวิญญาณ ยังเกิดต่ออีก ขณะที่เขายังอาศัยกายนี้อยู่ เกิดต่ออีกยังไม่พอ เขายังมีความทะเยอทะยานอยาก ทั้งอยากในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง อยากเกิด อยากมี อยากเป็น ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น


เราต้องพยายามชี้เหตุชี้ผล ดับความอยาก ดับความเกิด ดับการปรุงแต่งให้สั้นลงๆ จนเขาคลายออกจากขันธ์ห้า ตามดูขันธ์ห้า ละขันธ์ห้า ก็เหลืออยู่ที่ใจ แล้วก็มาดับความเกิดของใจ ละกิเลสที่ใจ หนุนกำลังสติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมานี่แหละไปเกิดแทน ไปทำหน้าที่แทนทุกเรื่อง จนกว่าจะหมดลมหายใจ


ทุกเรื่องในชีวิต พระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องชีวิตของเรานี่แหละ ไม่ได้สอนเรื่องอื่นหรอก แต่ละวันความขยันหมั่นเพียรของเรามีเพียงพอหรือไม่ ความรับผิดชอบของเรามีเพียงพอหรือไม่ เราต้องพยายามฝึกฝนตัวเราเอง การไปที่โน้นที่นี่ก็เพื่อที่จะแสวงหาแนวทาง หาวิธี แล้วไปสร้างสานต่อ เพื่อทำความเข้าใจต่อ ถึงเวลาก็คงจะถึงจุดหมาย ถ้าดำเนินได้ถูกต้อง ได้ถูกทาง


แต่ละวันตื่นขึ้นมาใจของเรามีกิเลสมาก กิเลสน้อย ใจของเราปกติ ใจของเรามีความกังวล มีความฟุ้งซ่าน ยิ่งฝึกไปเท่าไหร่ยิ่งเห็นเยอะนะของพวกนี้ ยิ่งฝึกไป ยิ่งเจริญสติเข้าไปต่อเนื่องเชื่อมโยง เห็นแยกแยะได้เท่าไหร่ยิ่งเห็นเยอะ เขาก็ยิ่งจะผุดขึ้นมาให้เห็นกิเลส มลทินต่างๆ ฝึกไปฝึกมาก็มีตั้งแต่ตัวมลทิน ผุดขึ้นมาก็ไปเพ่งโทษคนโน้น เพ่งโทษคนนี้ อคติคนโน้น อคติคนนี้ ใส่ร้ายคนโน้นคนนี้ คนโน้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี ก็ของเราทั้งนั้นแหละ มันผุดออกมาให้เราเห็น เราก็พยายามรีบแก้ไข รีบปรับปรุง รีบละ รีบทำความเข้าใจ


จิตใจของเรามีความแข็งกระด้าง เราก็พยายามปรับให้เขามีความอ่อนโยน อ่อนน้อม มีความถ่อมตน มีความเห็นถูก ไม่เอารัดเอาเปรียบตัวเอง ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น มองเห็นโลกในทางที่ดี มองโลกในแง่ดี ไม่มองโลกในแง่ร้าย ยิ่งฝึกไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งขัดเกลาออกเท่านั้นแหละ ถ้าเราไม่ขัดเกลาเรา ไม่มีใครขัดเกลาให้เราได้หรอก


เรามีความเกียจคร้านเราก็พยายามรีบละความเกียจคร้าน สร้างความขยันหมั่นเพียร กระตือรือร้นด้วยสติด้วยปัญญา ฝักใฝ่สนใจ ทำให้มีให้เกิด เพียงแค่ระดับสมมติ โลกธรรมเราก็พยายามทำให้ดีเถอะ ความเป็นอยู่ปัจจัยสี่ เราก็พยายามดำเนินให้ดี ความเป็นอยู่ดีก็ส่งผลถึงจิตใจ พึ่งตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ไม่ใช่ว่าเที่ยวแบกตั้งแต่ร่างกายจิตใจ ไประรานคนโน้น ระรานคนนี้ มีตั้งแต่คนพาลเท่านั้นแหละ


เราพยายามพาลกับกิเลสภายในใจของเรา แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเราจัดระบบระเบียบของกาย ของวาจา ของใจ ของสมมติให้เรียบร้อย จนกว่าเราจะหมดลมหายใจนั่นแหละ ช่วงที่ยังไม่ถึงวาระเวลาของเราก็คงไม่ได้ไป ถ้าถึงวาระเวลาแล้ว จะผูก จะมัด จะฉุด จะรั้งเอาไว้ก็ไม่อยู่


ขอให้เราทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ทุกคนมีโอกาสที่จะถึงกันหมดทุกคน เพราะว่าตราบใดที่เรายังเดินอยู่ ตราบใดที่เรายังแก้ไขตัวเราอยู่ มันอาจจะเดินช้าบ้าง เดินเร็วบ้าง ผิดพลาดบ้าง ก็แก้ไขใหม่ เริ่มต้นใหม่อยู่บ่อยๆ สักวันก็คงจะถึง ถ้าไม่ถึงวันนี้ก็ต้องถึงพรุ่งนี้ ถ้าไม่ถึงพรุ่งนี้ก็เดือนหน้าปีหน้า ถ้าไม่ถึงปีหน้าก็ไปต่อเอาภพหน้า


แต่เวลานี้การเจริญสติที่ต่อเนื่อง เชื่อมโยง 5 นาที 10 นาที มันต่อเนื่องกันได้แล้วหรือยัง วันหนึ่งมีกี่ชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่งมีกี่นาที อาทิตย์หนึ่งมีกี่วัน เดือนหนึ่งมีกี่วัน ทำอย่างไรเราถึงจะทำให้ต่อเนื่องจนเป็นอัตโนมัติ จนไม่ได้ฝึก จนไม่ได้สร้าง จนเป็นเอง


ช่วงที่เขายังไม่ต่อเนื่อง ก็คือช่วงที่เขายังสังเกตใจกับอาการของขันธ์ห้าแยกออกจากกันไม่ได้ จะพลั้งจะเผลอเพราะปัญญาเก่าเขาก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เหมือนกัน ถ้าเราฝึกฝืนจนถึงที่สิ้นสุด นั่นแหละเขาถึงจะคลาย เพียงแค่คลายได้ เรายังตามทำความเข้าใจให้ได้ทุกเรื่องอีก จนหมดจดนั่นแหละ สติ สมาธิ ปัญญา เขาถึงจะรักษาเราได้ ก็ต้องพยายามกัน ไม่ว่าพระ ว่าโยม ว่าชี


เอาล่ะวันนี้ ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจกันเอานะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง