หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 65 วันที่ 19 กรกฎาคม 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 65 วันที่ 19 กรกฎาคม 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 65 วันที่ 19 กรกฎาคม 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 4 (ลำดับที่ 61-80)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 65
วันที่ 19 กรกฎาคม 2557


ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงกันสักพักนึง ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา เราได้สร้างความรู้ตัว รู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราแล้วหรือยัง นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ หยุดทุกเรื่อง ให้รู้เรื่องเดียว คือรู้เรื่องลมหายใจเข้าออกของเรา มีความรู้สึกรับรู้อยู่ ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก


ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว กายของเราก็สบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกรับรู้ที่ลมวิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน ถ้าไม่ชัดเจน เราก็พยายามสูดลมหายใจยาวๆ อย่าไปบังคับลมหายใจ เพียงแค่สูดลมหายใจยาว ผ่อนลมหายใจยาว สัมผัสของลมหายใจก็จะกระทบปลายจมูกได้แรงขึ้น มีความรู้สึกที่ชัดเจนขึ้น นั่นแหละเขาเรียกว่า ‘สติรู้กาย’ ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่อง เขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม


ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา เรารู้กายของเรา แล้วก็รู้ให้ต่อเนื่อง เวลาลมหายใจเข้า หายใจออก เขาเรียกว่า ‘รู้อยู่ปัจจุบันธรรม’ คือขณะลมหายใจเข้าออก ต่อไปข้างหน้าก็รู้ลักษณะของใจ รู้ความปกติของใจ เวลาใจเกิดเขาปรุงแต่ง เขาก็จะเกิดอาการการก่อตัว เขาจะเกิดอย่างไร ส่วนมากเขาไปแล้ว แล้วก็ส่งเสริมไปด้วย บางทีก็มีความคิดผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ นี่ใจกับอาการของใจ ใจกับอาการของขันธ์ห้าเขารวมกัน ส่วนหนึ่งเป็นส่วนรูป ส่วนนามตัวเขารวมกัน แล้วเขาก็ปรุงแต่งส่งออกไป ถ้าไม่ใช้ปัญญาของพระพุทธองค์ ยากที่จะเข้าใจ


การสร้างความรู้ตัว เราต้องสร้างขึ้นมาใหม่ แล้วก็เน้นลงอยู่ที่กายของเรา รู้ไม่ทันต้นเหตุของใจ เราก็ควบคุมเอาไว้ หยุดเอาไว้ เขาเรียกว่าใช้ ‘สมถะ’ อยู่กับลมหายใจบ้าง หรือเอาคำบริกรรมเข้าไปกำกับบ้าง แล้วก็ขัดเกลา อบรมใจ คอยชี้เหตุชี้ผล คอยอบรมเขา อะไรผิดอะไรถูก จนใจของเราคลายอออกจากขันธ์ห้า ซึ่งเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ ใจก็จะว่าง กายก็จะเบา แต่สมมติก็มีอยู่ เราก็จะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ ว่า ‘อัตตา’ เป็นอย่างไร ‘อนัตตา’ เป็นอย่างไร ‘อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา’ ในกายของเราเป็นอย่างไร


ทำไมพระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่าไม่มีตัวไม่มีตน ทั้งที่นั่งอยู่นี่ก็มีตัวมีตน ท่านว่ามีอยู่ในทางสมมติ แต่ในทางวิมุตติ ทางหลักธรรมแล้วไม่มีอะไรเลย แม้แต่ใจ ใจก็ว่าง แต่ความรู้สึกรับรู้ก็มีอยู่ จะมองด้วยตาเนื้อไม่เห็น เราต้องให้สร้างความรู้ตัว แจงให้ออก แยกแยะให้ได้ พิจารณาให้เป็น ว่าตัวใจที่ปกติเป็นอย่างไร ใจที่ไม่มีกิเลสเป็นยังไง ใจที่คลายจากความคิดเป็นอย่างไร อาการของขันธ์ห้าเป็นอย่างไร วิญญาณในกายของเราเป็นอย่างไร


ทำความเข้าใจในกายของเราให้เรียบร้อย ทำไมกายของเรายังไปเกี่ยวเนื่องกับโลกธรรมอีก ยังไปเกี่ยวเนื่องกับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ นินทาอีก ยังไปเกี่ยวเนื่อง ยังเป็นทาสของกิเลสอีก รายละเอียดมันเยอะ ถ้าเราไม่ศึกษา ไม่ทำความเข้าใจให้กระจ่างจริงๆ ก็ยากที่เขาจะยอมรับ เพราะว่าเขาเกิดมานาน เขาเกิดเขาหลง ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด หลงมาเกิดอยู่ในภพของมนุษย์ มาสร้างขันธ์ห้ามาปิดกั้นตัวเอง แล้วก็ยังไม่พอ ยังเป็นทาสของกิเลสอีก กิเลสก็มีหลายชั้น หลายขั้นตอนอีก กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด มีมากมาย


ยิ่งเจริญสติเข้าไปเท่าไหร่ ยิ่งค้นคว้าเข้าไปเท่าไหร่ ยิ่งเห็นเยอะ ยิ่งเห็นเยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำความเข้าใจว่าอะไรควรละ อะไรควรเจริญ ไม่ใช่ว่าปฏิบัติธรรม ไม่รู้จักลักษณะของสติ ปัจจุบันธรรมเป็นลักษณะอย่างไร คำว่า ‘ทุกขณะจิต’ เป็นลักษณะอย่างไร


ใหม่ๆ ความรู้ตัวของเราจะพลั้งเผลอ เพราะความเคยชินเก่าๆ ทั้งที่ใจของเราก็เป็นบุญนั่นแหละ อยากได้บุญ อยากรู้บุญ อยากรู้ธรรม บางทีใจของเราก็สงบนิ่ง แต่เราไม่รู้จักประคับประคอง รักษาให้ได้ตลอด ไม่รู้จักทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผลให้ได้ทุกเรื่อง มันก็เลยวนเวียนหลงกันอยู่อย่างนั้น หลงมาเกิดอยู่ในภพมนุษย์ นี่ก็หลงอยู่ในชั้นนึงแล้ว กว่าเราจะมาเจริญสติเข้าไปแจงไปแยกแยะ ไปทำความเข้าใจอีก ต้องเป็นบุคคลที่สร้างบารมี มีความเสียสละ มีความขยันหมั่นเพียร มีความอดทน ฝักใฝ่สนใจในสิ่งที่เราดู ในสิ่งที่เรารู้ ในสิ่งที่เราทำ เราก็รู้จักการขัดเกลากิเลสออกจากใจของเรา


แม้แต่ความอยาก ความไม่อยาก อยากไปอยากมา ไม่อยากไปไม่อยากมา ความเกิดนั่นแหละ เกิดทั้งฝ่ายกุศลหรือว่าอกุศล เราต้องจัดการออกให้มันหมด เหลือตั้งแต่ปัญญาล้วนๆ เอาไปใช้ เอาไปทำความเข้าใจ เอาไปบริหารกาย บริหารใจของเรา จนกว่าจะหมดลมหายใจ ก็ต้องพยายามเอานะ อย่าพากันทิ้ง


พระเราก็เหมือนกัน ชีเราก็เหมือนกัน พยายามขยันหมั่นเพียร อย่าปล่อยเวลาทิ้ง เวลาภายนอก อะไร พอที่จะเป็นประโยชน์ได้ เราก็ช่วยกัน ทำขึ้นมาเราก็พลอยได้รับอานิสงส์ เราก็พลอยได้รับประโยชน์ คนอื่นมาก็พลอยได้รับอานิสงส์ในสิ่งที่พวกเราทำ การทำความสะอาด การดูแลที่พักที่อาศัย ที่หลับที่นอน ที่อยู่ที่กิน ทุกเรื่อง จนกระทั่งดูที่ใจของเรา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งนอนหลับ หลับแล้วก็ตื่นขึ้นมาเอาใหม่ จนไม่มีอะไรที่จะไปค้นคว้า จนอยู่ดูแลสมมติได้อย่างมีความสุข จนกว่าจะหมดลมหายใจนั่นแหละ ก็ต้องพยายามกัน


สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกให้ชัดเจน อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้ว่ารู้ลมที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่องกันนะ


พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันศึกษาทำความเข้าใจต่อให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง