หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 64 วันที่ 7 กรกฎาคม 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 64 วันที่ 7 กรกฎาคม 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 64 วันที่ 7 กรกฎาคม 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 4 (ลำดับที่ 61-80)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 64
วันที่ 7 กรกฎาคม 2557


ขอให้พี่น้องเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน การหายใจเข้าหายใจออกก็มีมาตั้งแต่เกิด แต่เราอาจรู้อยู่เป็นบางช่วง บางครั้งบางคราว แต่เรารู้ไม่ต่อเนื่อง ไม่รู้ให้เชื่อมโยง บางคนก็รู้ใจ แต่ไม่รู้จัการดับ การหยุด การแยก การคลาย ทั้งที่รู้ๆ ใจก็ยังเกิดยังหลงอยู่ กำลังสติของเราต้องพยายามหัดวิเคราะห์ หัดสำรวจ ชี้เหตุชี้ผล เห็นการเกิดการดับของวิญญาณ เห็นการเกิดการดับของอาการของวิญญาณ ในกายของเราให้เรียบร้อย มีเรื่องเดียวนี่แหละ ที่จะต้องทำให้เป็นเรื่องเร่งด่วนก่อน เรื่องนั้นก็เป็นเรื่องอานิสงส์ ผลประโยชน์ในทางสมมติ เพื่อที่จะยังสมมติให้เกิดประโยชน์ จนกว่าจะหมดลมหายใจ ไม่มีเรื่องอื่น


พระพุทธองค์ท่านก็สอนเรื่องการปล่อยการวาง หลักของอนัตตา อยู่ในกายของเรา ใจของเราปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร ทำไมใจถึงเกิดกิเลส กิเลสมีลักษณะอย่างไรบ้าง กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด กิเลสเกิดขึ้นที่กายหรือว่าเกิดขึ้นที่ใจ ใจส่งเสริมอย่างไร การปล่อยการวางอย่างไร ทำอย่างไรเราถึงจะเข้าถึงธรรมชาติของใจที่ไม่เกิด นี่แหละเขาเกิดมานาน เขาหลงมานาน เขาปิดกั้นตัวเองมานาน กำลังสติของเรานี่มีน้อยนิด เราถึงได้มาสร้าง แล้วก็มาทำ สร้างให้ต่อเนื่อง เพื่อที่จะเอาไปทำความเข้าใจ ไปอบรมใจของเรา


เพียงแค่การเจริญ การสร้างก็ยังทำกันไม่ได้ ทั้งที่ใจเป็นบุญ ก็เลยไม่ถึงจุดหมายปลายทางสักที ก็เลยปิดกั้นตัวเองอยู่ แต่ก็ยังดี ยังอยู่ในการสร้างอานิสงส์ สร้างบุญ สร้างบารมีกันอยู่ตลอดเวลา ก่อนที่จะถึงจุดหมายปลายทางได้ เราก็สร้างสะสมบุญบารมี เหมือนกับการปลูกผลหมากรากไม้สักต้น ปลูกวันแรกจะเร่งให้ออกดอกออกผลวันเดียวก็ไม่ได้ เราต้องหมั่นดูแล ทำความเข้าใจ ให้น้ำ ให้ปุ๋ย กาลเวลาเขาก็เจริญเติบโต ผลิดอกผลิใบ เราไม่อยากจะได้ดอก เราก็ได้ดอก เราไม่อยากจะได้ใบ เราก็ได้ใบ เพราะว่าการดูแล การกระทำของเรามี


การเจริญสติที่ต่อเนื่อง การควบคุมจิต ควบคุมอารมณ์ การสังเกตการวิเคราะห์ การละกิเลสของเรามี ใจของเราก็จะสะอาดขึ้น เราไม่อยากจะได้ความสะอาด เราก็ได้ เพราะว่าการละกิเลสของเรามี มีตั้งแต่การแสวงหา การดิ้นรน ใจเกิดอยู่ตลอดเวลา มันจะไปสะอาดได้ยังไง ตัวใจก็ยังไปปิดตัวมันไว้ เราก็ต้องมาสร้างความรู้ตัว แล้วก็เอาไปใช้ จนเกิดเป็นมหาสติ จากมหาสติกลายเป็นมหาปัญญา รู้เท่าทัน รู้กัน รู้แก้ รู้ละ ชี้เหตุชี้ผล


เหตุผลทางสมมติก็เป็นอย่างนี้ เหตุผลทางวิมุตติก็เป็นอย่างนี้ จนหมดความสงสัย หมดความลังเล ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน อยู่ ขับถ่าย ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องไปศึกษาที่ไหนเลย ศึกษาลงในกายของเรานี่แหละ รู้ไม่ทันต้นเหตุ เราก็รู้จักหยุดเอาไว้ ดับเอาไว้ เอาใหม่เริ่มใหม่ เพียงแค่การสร้างความรู้ตัว ก็พยายามสนใจกันเถอะ มีไม่มากหรอก แต่มันมากสำหรับบุคคลที่เกียจคร้าน จะมีน้อยสำหรับบุคคลที่เอาออก ที่ขัดเกลา เอาออกจนหมด จนไม่เหลือ จนเหลือในสิ่งที่มันมีอยู่ คือความว่าง ความบริสุทธิ์ นั่นแหละเขาเรียกว่า ‘วิหารธรรม’ เครื่องอยู่ของใจ มีความรู้สึกรับรู้อยู่


ลองอดพูด อดคิด สังเกตดูความคิด แม้แต่ใจมันเกิดตรงไหน มันจะอยู่ตรงนั่นแหละความอยาก อยากในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง ความไม่อยากอีก การผลักไสอีก ความเป็นกลางเป็นยังไง เราต้องพยายามคลายออกให้ได้ทีละชิ้น ทีละชิ้น ตราบใดที่ใจยังไม่หลุดพ้น เราก็พยายามสร้างบารมีของเราให้เต็มเปี่ยม อย่าไปท้อถอย อยู่คนเดียวเราก็รู้ใจ อยู่หลายคนเราก็รู้ใจ เราจะละได้หมดจดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับตัวเรานั่นแหละ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนอื่นหรอก


อยู่ด้วยกันหลายคน เราก็ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะว่าเรามาอาศัยกันอยู่ ต่างทิศต่างที่ มาอยู่ร่วมกัน เราก็ต้องพยายามยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นให้กับชุมชนของเรา อยู่ที่วัดก็เปรียบเสมือนกับหมู่บ้านใหญ่เลยทีเดียว ก็ต้องพยายาม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้อภัย อนุเคราะห์ อะไรมันไม่ดีรีบๆ แก้ไขเสีย อะไรที่มันดีก็เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ


สร้างความรู้สึกรับรู้ สัมผัสของลมหายใจเข้าออกให้ชัดเจนนะ


พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปศึกษาทำความเข้าใจต่อกันนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง