หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 3

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 3
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 3
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2556 ลำดับที่ 3
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 13 มกราคม 2556

พยายามดูดีๆนะ พระเราชีเรา พิจารณาปฏิสังขาโยทุกเรื่อง ตั้งตื่นขึ้นมาพิจารณาใจก่อนเพื่อน ตื่นขึ้นมาก็รีบรู้ใจของเรา รู้ใจรู้กาย รู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ ไม่ใช่ไปผัดวันประกันพรุ่ง ท่านถึงบอกว่าเป็นผู้รู้ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เบิกบานในธรรม อะไรคือธรรม ตัวใจของเรานั่นแหละคือธรรม ธรรมชาติ ธรรมชาติของใจ ธรรมชาติของสมมติ เรามาอาศัยธรรมชาติอยู่ มาสร้างธรรมชาติ มาสร้างภพสร้างชาติ ภพของมนุษย์ ถึงเวลากายแตกดับ ก็กลับคืนสู่สภาพเดิม

แต่คนไม่เข้าถึงธรรมชาติก็หาที่เกิดอยู่เรื่อยร่ำไป เกิดในภพน้อย เกิดในภพใหญ่ เกิดในภพมนุษย์ ขณะมีกายเนื้ออยู่ ใจมันยังเกิดอยู่ เที่ยวเกิดไปโน่นเที่ยวเกิดไปนี่ บางทีก็ยึดบ้างไม่ยึดบ้าง เอาแน่นอนไม่ได้ ตราบใดที่ใจยังเกิด เราก็ต้องพยายามหมั่นพร่ำสอนใจของเรา หมั่นพร่ำสอนใจ หมั่นแก้ไขใจของเราให้ดี ไม่มีใครจะแก้ไขให้ได้หรอก นอกจากตัวของเรา แนวทางคำสอนของพระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบมาตั้งนาน ใจที่สะอาด ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร ใจที่ปกติเป็นอย่างไร ความตายมันไม่แน่นอน อะไรตาย กายเนื้อตาย แต่จิตวิญญาณยังไม่ตายเขายังเกิด ตราบใดที่ดับความเกิดไม่ได้ เขาก็ยังเกิด หาที่เกิดใหม่อยู่เรื่อยกันไป ถ้าเกิดก็ขอให้เกิดอยู่ในกองบุญของกุศลเอาไว้ ถึงจะไม่ตกอับ จะสูงขึ้นไปก็สร้างบุญ ไม่ยึดติดในบุญ สร้างประโยชน์

การฝึกหัดปฏิบัติธรรมต้องเป็นคนขยันหมั่นเพียร มีความเสียสละ มีความรับผิดชอบ ยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นตลอดเวลาแต่ไม่หลงไม่ยึด ถ้าเราไม่ทำ ไม่ช่วยกันทำ เพียงแค่ความเป็นระเบียบ ความเสียสละ ตัวเราไม่มีระเบียบมันก็ล้นออกไปสู่ภายนอก ทิ้งมันเกลื่อนกลาดระเกะระกะ ไม่มีความรับผิดชอบ ปากอยากจะร้องตั้งแต่ก่อน หาตั้งแต่ธรรมชาติ หาตั้งแต่ความสะอาด แต่การกระทำการลงมือไม่มี มันก็จะได้รับอานิสงส์ได้อย่างไร

การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน เจริญสติไม่มี การพร่ำสอนใจไม่มี การละกิเลสไม่มี ใจยังเกิดยังวิ่งอยู่ จะสงบได้อย่างไร เราต้องแจงให้ละเอียด อันนี้คือ ‘สติ’ ความรู้ตัวที่สร้างขึ้นมา อันนี้คือ ‘ใจ’ อันนี้คือ ‘อาการของใจ’ เขาหลงอย่างไร ใจเกิดกิเลส เราละได้เราดับได้ตั้งแต่ต้น ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ ใจเกิดออก ส่งออกไปทางกายหรือว่าส่งออกไปทางวาจา เป็นเรื่องอะไร เป็นกุศลหรือว่าอกุศล เป็นอดีตหรืออนาคตก็ต้องแจงให้ได้ทุกเรื่อง

ถ้ากายของเรา ในกายของเรานี้มีอะไรบ้าง ที่ท่านบอกว่าเป็นกองเป็นขันธ์ ขันธ์ห้าที่ว่าเป็นกอง กองๆ ของขันธ์ห้า ขันธ์ห้าเป็นของหนัก ทำไมมันถึงหนัก ทำไมท่านถึงว่าไม่มีตัวมีตน ทำไมถึงว่าคำว่าอัตตาอนัตตาเป็นอย่างไร จะไปมัวตั้งแต่จะไปวิ่งหาตั้งแต่ธรรม แต่ไม่เจริญสติเข้าไปจัดการกับมัน มันก็จะเข้าถึงได้อย่างไร เราต้องพยายามดูตั้งแต่ต้นเหตุ พระพุทธองค์ท่านชี้ลงไปหาเหตุ กายเนื้อนี่มันปลายเหตุ วัตถุต่างๆ มันปลายเหตุ ต้นตอของต้นเหตุก็ตัววิญญาณนั่นแหละ ในขันธ์ห้าของเราน่ะมันเกิดอย่างไร ส่วนมากก็ตัววิญญาณมันหาเรื่อง ทุกสิ่งทุกอย่างปกปิดตัวของเขาเอาไว้หมด ท่านถึงให้มาเจริญสติเข้าไปแจง เข้าไปแยกแยะ หมั่นอบรมหมั่นพร่ำสอนเขา ขณะที่ยังมีกำลังกายอยู่

ใจของทุกคนก็เป็นบุญ อยากจะได้บุญ ปรารถนาอยากจะรู้บุญ แต่การเกิดของใจก็ยัง ยังมีอยู่ ก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่ในระดับของโลกียะ ในหลักธรรมเราต้องคลายใจอก รับรู้ ละกิเลส ดับความเกิดออกจากใจให้ของเราให้มันหมด ตื่นขึ้นมาก็รีบดูใจ ไม่ใช่ว่าไปส่งเสริมใจ ความคิดมันผุดขึ้นมาได้อย่างไร กิเลสเกิดขึ้นได้อย่างไร จะขบจะฉันกายมันหิวหรือใจมันอยาก อะไรคิด อะไรควรคิดหรือไม่ควรคิด เวลาไหนควรคิด จัดระเบียบให้ได้หมดทุกอย่าง จะไปเที่ยวให้ตั้งแต่คนจัดระเบียบให้ ใช้การไม่ได้ เสียเวลาปรับ เราต้องจัดระเบียบเราแก้ไข เราขยันหมั่นเพียร จนล้นออกไปสู่หมู่คณะสู่สังคม อยู่คนเดียวก็มีความสุข อยู่หลายคนก็มีความสุข

ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ต่อเนื่องให้ชัดเจน เพียงแค่การสร้างความรู้ตัวเราอาจจะสร้างอยู่ แต่เป็นการสร้างที่กระท่อนกระแท่น หลวงพ่อก็ย้ำก็เตือนทุกวันทุกเช้า มาตั้ง 30 กว่าปีแล้ว เพียงแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ นั่นแหละ เราจะไปเอาตั้งแต่เรื่องใหญ่

ทั้งที่ใจก็เป็นบุญ ใจก็ใฝ่ในบุญ ใจก็ปรารถนา ความปรารถนาของใจนั้นเขาเกิด เขาเกิดอยู่ เขายังไม่นิ่ง เราต้องค่อยวิเคราะห์ค่อยพิจารณา ค่อยสังเกตจากน้อยๆ ไปหามากๆ แล้วก็หมั่นอบรมใจ หมั่นพิจารณาใจของตัวเรา การก่อตัวการเกิดของใจ ใจซึ่งอยู่ในกายเนื้อของเรา มีกายเนื้อเข้ามาห่อหุ้ม มีความคิด มีอารมณ์ มีขันธ์ห้าต่างๆ เข้ามาห่อหุ้ม ถ้าเราไม่ได้เจริญสติให้ต่อเนื่องไปเห็นจริงๆ เราก็จะไม่เข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ ท่านบอกไว้อย่างไรมีหมดเลย หลักของอริยสัจ ใจส่งออกไปภายนอก เรียกว่าสมุทัย

ใจเกิดกิเลสเราก็รู้จักละกิเลส ใจของเราหลงขันธ์ห้า มีความคิดผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจ ทำให้ใจของเราหลงรวมเป็นสิ่งเดียวกันนั่นแหละ หลงอยู่ในความคิด หลงอยู่ในความรู้ ก็เลยเกิดอัตตาตัวตน ถ้าเราสังเกตแยกแยะได้ ใจของเราคลายออกได้ เราก็จะเข้าใจในคำว่าสมมติวิมุตติ ทีนี้การตามทำความเข้าใจ การดู การรู้ การเห็นทุกเรื่อง การละก็ต้องตามมาอีก อย่าไปเกียจคร้านไม่ได้ ก็ต้องอาศัย เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกัน

การดำเนินทางสัมมาทิฎฐิ อริยมรรคในองค์แปด แยกรูปแยกนามได้ ข้อแรกแค่เริ่มต้นเท่านั้นเอง เพียงแค่เห็นถูก เห็นถูก ทีนี้การเดินให้ถึงจุดหมายอีก การละกิเลสอีก เหมือนกับเราขึ้นตัวเรือนต้องอาศัยบันไดจากขั้นแรกถึงขั้นสุดท้าย พอก้าวถึงขั้นสุดท้าย เข้าถึงตัวเรือนเราต้องไปปัดกวาดตัวเรือนของเราให้สะอาดให้หมดจดอีก

การที่จิตจะคลายออกต้องหมั่นอบรมจิต หมั่นสังเกต หมั่นวิเคราะห์ ดู รู้ลักษณะอาการของความคิด เขามีอยู่แล้ว ความคิดเขามีอยู่แล้ว เขาผุดขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้ เพราะว่าเราไม่ได้เจริญสติให้รู้ตัวให้ต่อเนื่อง เราก็เลยไปยึดเอาความคิดเก่า ปัญญาเก่าที่เกิดจากใจหรือว่าเกิดจากวิญญาณในกายเนื้อของเรา รวมกันไปหมด มันอาจจะถูกต้องหรือระดับของสมมติ แต่ยังไม่ถูกต้องในระดับของหลักธรรม

ถ้าหลักธรรมต้องแยกตรงคลาย ตามดู ละกิเลส ดับความเกิด ทุกอย่างจนใจไม่เกิด จนวางใจให้เป็นธรรมชาติ วางใจให้เป็นธรรมชาติขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ วางใจเป็นธรรมชาติยังไม่พอ ก็วางกายให้เป็นธรรมชาติอีก วางทั้งกายวางทั้งใจให้เป็นธรรมชาติ บริหารด้วยปัญญาล้วนๆ อยู่ด้วยปัญญาล้วนๆ

ใจของเราปราศจากกิเลส ปราศจากการเกิด ปราศจากความยึดมั่นถือมั่น เขาก็อยู่ในความว่างความบริสุทธิ์ ‘ความว่าง’ นั่นแหละคือองค์ธรรม ในความว่างนั้นมีความรับรู้อยู่ ความว่างนั่นแหละคือวิหารธรรม ว่างจากการเกิด ว่างจากกิเลส ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น พูดง่าย ในการลงมือการทำนี่ต้องพยายามขยัน แต่ไม่เหลือวิสัย

สร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจให้ชัดเจนนะ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อเอานะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง