หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 56 วันที่ 13 มิถุนายน 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 56 วันที่ 13 มิถุนายน 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 56 วันที่ 13 มิถุนายน 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 3 (ลำดับที่ 41-60)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 56
วันที่ 13 มิถุนายน 2557


ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ ให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงกันสักนิดก็ยังดี วางกายให้สบาย วางใจให้สบาย หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ เอาไว้ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงเราหยุดไม่ได้ ดับความเกิดไม่ได้ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียก ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว กายของเราก็สบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น


ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน เราพยายามสร้างความรู้สึกตัวตรงนี้แหละ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง เขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม ลึกลงไปก็รู้ใจ รู้ลักษณะของใจ รู้การเกิดของใจ แล้วก็หมั่นพร่ำสอนใจ สังเกต การรู้ให้เท่าทัน การรู้ให้เท่าทันว่าความคิดกับใจเขาเกิดขึ้นอย่างไร เขารวมกันได้อย่างไร เป็นสิ่งเดียวกันได้อย่างไร


ถ้าเรารู้เห็นตั้งแต่การก่อตัว ใจเคลื่อนเข้าไปร่วมเขาจะแยกของเขาเอง ถ้าเขาแยกของเขา เขาเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ ใจก็จะพลิกจากสมมติไปหาวิมุตติเหมือนกับเราพลิกฝ่ามือ พลิกจากหลังมือ ฝ่ามือก็ขึ้นอยู่ข้างบน ใจก็จะว่าง กายก็จะเบา ความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมานี่แหละ ตามดู ตามรู้เห็นการเกิดการดับของความคิด ว่าเรื่องอะไรที่เขาเกิด เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นกลางๆ บ้าง เขาเกิดขึ้น เขาตั้งอยู่ แล้วเขาก็ดับไป นั่นแหละเวลาเขาหยุดเขาดับไป อนัตตา ความว่างเปล่าเข้ามาปรากฏ นี้เรียกว่ารู้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในขันธ์ห้าของตัวเรา ส่วนกองรูปก็ตั้งเอาไว้ต่างหาก เราก็จะเห็นชัดเจนทุกเรื่อง


แต่เวลานี้ความรู้ตัวของเรามีกำลังไม่เพียงพอ เพียงแค่สร้างขึ้นมากับทำให้ต่อเนื่องก็ยังทำกันไม่ได้ ก็เลยรู้ไม่ทัน จะเอาปัญญาที่ไหนไปประหัตประหารกิเลส จะเอาปัญญาที่ไหนไปอบรมใจ ก็มีตั้งแต่ปัญญาของกิเลส ปัญญาของโลกียะที่มันครอบคลุมควบคุมหัวใจตรงนี้อยู่ สนามรบก็อยู่ที่กายของเรา


การขัดเกลา การละกิเลส แต่ละวันตื่นขึ้นมาความรู้ตัวของเราตั้งมั่นหรือไม่ ศรัทธาของเราเต็มเปี่ยมหรือเปล่า เรามีความละอายเกรงกลัวต่อบาปหรือไม่ อะไรควรทำ อะไรควรละ เราต้องพิจารณาตัวเราอยู่ตลอดเวลา ใจของเราเกิดกิเลสสักกี่ครั้ง กิเลสหยาบกิเลสละเอียดเขาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เราจะหาวิธีละอย่างไร เราจะจัดการกับกิเลสกับใจของเราได้อย่างไร


เราต้องพยายามหมั่นพร่ำสอนตัวเรา แก้ไขตัวเรา เข้าถึงคำสอนของพระพุทธองค์ แล้วให้ปรากฏขึ้นที่ใจของตัวเรา ให้รู้ด้วย เห็นด้วย เข้าถึงด้วย ท่านสอนเรื่องอะไร คำว่า ‘อัตตา’ ของท่านเป็นอย่างไร ‘อนัตตา’ เป็นอย่างไร ‘สมมติ’ เป็นอย่างไร ‘วิมุตติ’ เป็นอย่างไร หลักของอริยสัจ ‘ใจส่งออกไปภายนอก’ เป็นอย่างไร ‘ใจรวมกับขันธ์ห้า’ เป็นอย่างไร ใจเกิดกิเลส ความกังวล ความฟุ้งซ่านต่างๆ เราจัดการวิธีไหน เราต้องแก้ไขตัวเรา ไม่ใช่ว่าไปที่โน่นที่นี่ ก็ไปอคติที่โน่นไม่ดีที่นี่ไม่ดี ใจของเรามันไม่ดี มันถึงไปว่าข้างนอกไม่ดี เราก็พยายามรีบแก้ไขเรา


กายของเราก็ไปรวมร่วมกับสมมติให้ใจรับรู้ ไม่อคติไม่เพ่งโทษ อะไรควรทำ อะไรควรละ เพียงแค่ประโยชน์ในระดับของสมมติก็รู้จักช่วยเหลือตัวเองแก้ไขตัวเอง ความเป็นอยู่ของเราเป็นอย่างไร ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความเสียสละ ความอดทน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เป็นบุคคลที่รักความเป็นระเบียบ รักษาความสะอาด แต่ส่วนมากรักสะอาดแต่ชอบสกปรก ทิ้งมันเกลื่อน ไม่รู้จักแก้ไข คนเราถ้าไม่ได้ฝึกนี่แย่มากทีเดียว แม้แต่ที่พักที่อาศัยห้องส้วมห้องน้ำก็ไม่รู้จักช่วยกันดูแล ทั้งที่ทำให้มีให้เกิดขึ้น ยังประโยชน์


ความสกปรกรกรุงรังนี่เยอะเลยเดียว ยิ่งทางลานจอดรถ ทางร้านอาหารทางนู้น โอ้ ...แย่ ไม่ว่าที่ไหน อุตส่าห์ทำให้มีให้ใช้ก็ยังพากันทำความสกปรกใส่ มีใช้ก็ไม่รู้จักรักษา ไม่รู้จักทะนุถนอมบำรุงขึ้นมาให้มันสะอาด ถ้าไม่มีแล้วมันลำบาก ไม่ว่าที่พักที่อาศัย ที่หลับที่นอน ทุกเรื่องเลยในชีวิต ปัจจัยสี่ของมนุษย์ เราก็ต้องพยายามช่วยกันดูแล ไม่ใช่ว่าไม่ใช่หน้าที่ของเรา ไม่ใช่หน้าที่ของฉัน แล้วแต่ จะเป็นอย่างไรอย่างนั้น


ใครเห็นใครไปรู้ไปเห็นไปนั่น เราก็ทำ ช่วยกันทำความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย อย่าเห็นแก่ตัว กว่าจะมีได้แต่ละชิ้นแต่ละอันนี่ ต้องใช้กาลใช้เวลา ใช้ความเพียร ใช้กำลัง ใช้หมู่ใช้คณะช่วยกันทำ เราก็ต้องช่วยกันดูแลรักษาให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ก็พวกเรานั่นแหละได้รับความสะดวกสบาย ไม่ใช่ใครที่ไหนหรอก ใครไปใครมาก็ได้รับความสะดวกสบายด้วย จิตใจก็เป็นบุญ ไม่ใช่ว่าขอให้ฉันอยู่ดีมีความสุข ใครจะเป็นยังไงก็ช่าง ไม่ใช่! เพราะว่าเรายังอยู่รวมร่วมกันกับสมมติ อยู่รวมร่วมกันกับโลกธรรมอยู่ เราก็ต้องทำความเข้าใจ


ไปอยู่ที่ไหนถ้าคนเรามีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ มีความขยันหมั่นเพียร ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ลำบาก ถ้าคนเกียจคร้านแล้วตัวเองก็ลำบาก บอกตัวเองไม่ได้ ใช้ตัวเองไม่เป็น ไปที่ไหนก็หนักหมู่หนักคณะหนักสถานที่ มันน่าละอาย จงเป็นบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียร องอาจกล้าหาญในสิ่งที่ควรกล้าหาญ ให้ละอายในสิ่งที่ควรละอาย ไปที่ไหนก็จะเป็นบุคคลที่ไปถึงฝั่งได้เร็วได้ไว


ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ไปอยู่ที่โน่นก็ไม่ดี ไปอยู่ที่นี่ก็ไม่ดี เพราะว่าใจของเรามันไม่ดี ก็รีบแก้ไขเสีย ถ้าใจดีแล้วจะไปอยู่กลางโรงหนัง กลางตลาด อยู่กับกลางหมู่คนพาล ใจของเราก็ดีอยู่เหมือนเดิม ก็ต้องพยายามแก้ไขเสียนะ


เอาล่ะ วันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไว้พระพร้อมๆ กัน พากันสร้างสานต่อทำความเข้าใจกันเอานะ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง