หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 70

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 70
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 70
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 70
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2558

มีความสุขกันทุกคน ดูดีๆ นะ พระเราชีเรา ทั้งพระใหม่พระเก่า พิจารณาปฏิสังขาโย ดูใจ รู้ใจของเรา ใจของเราเกิดความอยาก เรารู้จักควบคุม กายของเราหิวก็ให้รับรู้ ยิ่งบวชใหม่เคยรับประทานข้าวปลาอาหารหลายมื้อ เรามาลดลง กายก็จะเกิดความหิว ใจก็จะเกิดความอยาก อันโน้นก็อร่อย อันนี้ก็อร่อย อันโน้นก็จะเอา อันนี้ก็จะเอา กิเลสมันสั่งงานได้เร็วไว เราก็รู้จักควบคุม รู้จักหยุด รู้จักดับ การหยุด การดับ การควบคุม เขาเรียกว่ามีสติเข้าไปควบคุมใจของตัวเรา ไม่ใช่ว่าปล่อยเลยตามเลย

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาทุกเรื่อง เราต้องหัดวิเคราะห์กาย วิเคราะห์ใจของเรา ความกังวล สารพัดอย่างที่จะตามมา ไหนจะหัดนุ่งผ้าครองผ้า ไหนจะหัดนอน ตื่นดึก นอนดึก ตื่นดึก ละความเกียจคร้าน ละทุกอย่าง มาทำความเข้าใจ ใหม่ๆ ก็จะสับสนอยู่บ้าง เราก็ต้องพยายามมาฝึกตัวเรา แก้ไขตัวเรา มาวิเคราะห์กาย วิเคราะห์ใจของตัวเอง ทุกอิริยาบถ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา รู้จักหน้าที่ รู้จักรับผิดชอบ

ไม่ใช่ว่าบวชเข้ามาแล้วจะได้ มันก็ได้อานิสงส์แห่งบุญอยู่นั่นแหละ ได้บวชพ่อแม่ก็ดีใจ ภูมิใจ ทีนี้เราก็มาบวชให้ตัวเรา แก้ไขตัวเรา พฤติกรรมของเรา ใจของเรา เรารู้จักแก้ไข รู้จักปรับปรุงตัวเราอยู่ตลอดเวลา เรามีความเกียจคร้าน เราก็พยายามละความเกียจคร้าน เพิ่มความขยันหมั่นเพียร เพิ่มความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ทุกอิริยาบถ ไม่ใช่ว่าไปปล่อยปละละเลย

ภายในวัดของเราก็พยายามขยันหมั่นเพียร ไม่ว่าพระว่าโยมที่มาอยู่ในวัด ก็ขยันหมั่นเพียรกัน มีความรับผิดชอบ อย่าไปเกียจคร้าน จะได้อยู่ดีมีความสุขได้ ก็อาศัยอานิสงส์บุญของทุกคน หล่อหลอมรวมกันช่วยกัน ผ่านกาลผ่านเวลา คนมารุ่นหลังก็มาสานต่อ มาทำความเข้าใจต่อ เอาแต่เกียจคร้านเอาแต่งอมืองอเท้าอยู่คนเดียวก็ไม่เจริญ ถ้าขยันหมั่นเพียรมีความรับผิดชอบ อยู่หลายคนก็ไม่ได้ลําบาก

มีอะไรเราก็รีบแก้ไข อะไรไม่ดีเราก็รีบช่วยกันแก้ไขเสียให้ดี โตกันทุกคน แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเราตั้งแต่กาย วาจา ใจ ความคิด อารมณ์ต่างๆ รู้จักดูแล รู้จักควบคุม กําลังสติปัญญาของเราเยอะ ก็รู้จักละ รู้จักแก้ไขตัวเรา ไม่ใช่ว่าจะเที่ยวให้ตั้งแต่คนอื่นเขามาบังคับตัวเรา เราพร่ำสอนตัวเราอยู่ตลอดเวลา มันถึงจะถูกต้อง หัดเป็นคนขยันให้เพิ่มเป็นทวีคูณ ไม่ใช่ว่ามาบวชแล้วจะได้รู้ ได้เห็น ได้เข้าใจ ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจมันก็ยาก ก็ต้องพยายามกันเอา ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่ ไปอยู่ที่นู่นจะเข้าใจในธรรม ไปอยู่ที่นี่จะเข้าใจในธรรม มันไม่ใช่หรอก นั่นก็ขึ้นอยู่กับตัวของเรา ถ้ารู้จักวิธี รู้จักแนวทาง รู้จักดำเนิน ถึงจะเข้าถึงธรรม ธรรมก็คือใจของเรานั่นแหละ ใจปกติ ใจสะอาด ใจบริสุทธิ์ ตัวใจตัววิญญาณในกายของเรานั่นแหละ

ถ้าเราไม่ละกิเลส ไม่ขัดเกลากิเลส ไม่รู้จักแก้ไขมันก็จะให้ใจสะอาดได้อย่างไร อย่าไปโทษคนโน้น อย่าไปโทษคนนี้ จงโทษตัวเรา แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรามันถึงจะถูก แต่อยู่ที่นู่นไม่เห็นพระนั่ง ไม่เห็นพระเดิน มีแต่พระทำงาน ว่างั้น เอาการงานนั่นแหละเป็นการปฏิบัติ เพียงแค่การงานก็ยังทำไม่ได้ ยังไม่มีความรับผิดชอบ ยังไม่มีความเสียสละ มันจะเข้าถึงข้างในได้อย่างไร คนเราก็อยู่กับโลกธรรม อยู่บ้านก็ธรรม อยู่ที่ไหนก็ธรรม พวกท่านได้มาอยู่ดีมีความสุข ก็เพราะการกระทำของคนรุ่นก่อนนั่นแหละช่วยกันทำ ก็ได้มาอาศัยอานิสงส์ พวกเราจากไป รุ่นใหม่ก็ได้อาศัยอานิสงส์ในสิ่งที่พวกคนรุ่นก่อนได้ทำเอาไว้

ออกไปข้างนอกก็ขยันหมั่นเพียร รู้จักรับผิดชอบ แต่ชีวิตก็จะเจริญรุ่งเรือง ถ้าเกียจคร้าน งอมืองอเท้า อยู่ที่วัดก็หนักตัวเอง หนักคนอื่น ออกไปข้างนอกก็หนักสถานที่ หนักทุกอย่าง ต้องแก้ไขจากภายใน มุ่งสู่ภายนอก อีกสักหน่อยก็ได้พลัดพรากจากกัน ไม่ได้พลัดพรากจากกันตอนเป็น ก็ต้องได้พลัดพรากจากกันตอนตาย เพราะเป็นกฎของไตรลักษณ์ กฎของความเป็นจริงของชีวิต

คนเราเกิดมาก็สร้างสะสมอานิสงส์มาไม่เหมือนกัน บางคนก็สร้างมาน้อย บางคนก็สร้างมามาก ต้องค่อยพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ถึงจุดหมายเอง รู้จักแก้ไข รู้จักปรับปรุง ใจของเรามีความแข็งกระด้าง เราก็ละความแข็งกระด้าง ใจของเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีพรหมวิหาร มีความเมตตา เราก็เพิ่มเสริมเติมให้เต็มเปี่ยม มีความขยันหมั่นเพียร อะไรลักษณะของการเจริญสติ ลักษณะของการวิเคราะห์สังเกต มีไม่มากหรอก ถ้าคนสนใจ ถ้าคนไม่สนใจจะพูดจนปากเปียกปากแฉะก็ไม่รู้เรื่อง

การสร้างสะสมคุณงามความดี สร้างสะสมบุญบารมี ก็ค่อยสร้างสะสมไปเรื่อยๆ ถึงเวลาแล้วก็เต็ม ยังไม่ถึงเวลา อยากจะได้ก็ไม่ได้ อยากจะรู้ก็ไม่รู้ เพราะวิบากกรรมยังไม่คลาย ถ้าวิบากกรรมมันคลายแล้ว อยู่คนเดียวก็รู้ ถ้าสร้างสะสมคุณงามมาดี อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็นถึงจะถูก จะมาถือทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตนเข้าห้ำหั่นกัน มองแล้วก็น่าละอาย ถ้ามีถ้าเกิดขึ้นกับใคร คนมีบุญไม่ได้จำเป็นต้องไปพูดมาก ละตัวเอง แก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ทั้งการกระทำ ทั้งสมมติวิมุตติให้เกิดประโยชน์

ตั้งใจรับพรกัน

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของตัวเราเองให้ชัดเจน เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้าออกพวกเราก็ขาดการสร้างความรู้ตัว จะเอาตั้งแต่ความคิดเก่า ปัญญาเก่า ความคิดเก่า ปัญญาเก่าก็อาจจะถูกอยู่ในระดับของสมมติ แต่ในหลักธรรมแล้วยังหลงอยู่

เราต้องมาสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยง เอาไปใช้วิเคราะห์ใจ รู้ลักษณะของใจ จนกว่าใจจะคลายออกจากขันธ์ห้า ซึ่งเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ สัมมาทิฏฐิถึงจะเปิดทาง ความเห็นถูกถึงจะเปิดทาง เพียงแค่เปิดทาง แล้วก็ตามทำความเข้าใจ แล้วก็รู้จักละอีก เราละได้มากได้น้อย จนกว่าใจของเราจะสะอาดบริสุทธิ์ ถึงจุดหมายปลายทางก็คือความไม่กลับมาเกิด

แต่เวลานี้ทั้งเกิดด้วย ทั้งหลงด้วย อาจจะหลง หลงอยู่ในคุณงามความดี หลงอยู่ในบุญ บุญบ้าง กุศลบ้าง อกุศลบ้าง เขาเกิดอยู่ตลอดเวลา แต่เราขาดการเจริญสติเข้าไปวิเคราะห์ก็เลยไม่รู้เรื่อง ก็เลยคิดก็รู้ ทำก็รู้ เขาหลงอยู่ในความรู้อยู่ แต่ตัวปัญญาที่เราสร้างขึ้นมาใหม่นี้ มีกระท่อนกระแท่นหรือไม่มีเลย เพียงแค่สร้างความรู้ตัว เรื่องการหายใจเข้าออกก็ขาดการสังเกต ขาดการวิเคราะห์

คําว่าปัจจุบันธรรมของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไร หายใจเข้าก็เรียกว่าปัจจุบัน หายใจออกก็เรียกว่าปัจจุบัน หายใจให้ต่อเนื่องเขาเรียกว่าสัมปชัญญะ เราพยายามสร้างความรู้ตัวให้ได้ยาว 1 นาที 2 นาที 3 นาที ไป 5 นาที ไป 10 นาที จนกว่าเอาไปใช้การใช้งานได้ จนกว่าจะเป็นอัตโนมัติ จนกว่าจะเป็นมหาสติ มหาปัญญา จนไม่ได้สร้าง จนเอาไปประหัดประหารกิเลสควบคุมใจของเราได้ทุกเรื่อง นั่นแหละถึงจะเข้าถึงความหมาย คําสอนของพระพุทธองค์ว่าเป็นอย่างไร

แต่เวลานี้เพียงแค่เรื่องโลก เรื่องสมมติ เราก็ยังทำไม่ได้สมบูรณ์แบบ มันก็เลยยากอยู่ ก็ต้องพยายามไม่เหลือวิสัย ได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็พยายามทำนะ อย่าไปปล่อยปละละเลย ตื่นขึ้นมาลมหายใจยังเข้ายังออก ยังเป็นธรรมชาติไหม ต่อไปถ้ากําลังสติมีมากขึ้น ก็จะได้รู้ว่าใจของเราเป็นลักษณะอย่างนี้ เราจะแก้ไขลักษณะอย่างนี้ เราขาดตกบกพร่องอะไร แนวทางนั้นมีมานานแล้วแหละ พวกเราพยายามน้อมนําคําสอนของพระพุทธองค์ไปประพฤติไปปฏิบัติเพียงแค่สร้างความขยันหมั่นเพียร ละความเกียจคร้าน เพิ่มความรับผิดชอบ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่กิน ไม่เห็นแก่นอน ฝึกหัดตัวเอง แก้ไขตัวเองอยู่ตลอดเวลา มันก็จะส่งผลถึงวันข้างหน้า

สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจเข้าออกให้ชัดเจนกันให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปทำความเข้าใจต่อกันนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง