หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 27

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 27
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 27
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 27
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 12 มีนาคม 2558

พระเรา ชีเรา ดูดีๆ พิจารณาปฏิสังขาโยทุกเรื่องตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ ความรู้ตัวต่อเนื่องกันแล้วหรือยัง ความรู้ตัวเชื่อมกันแล้วหรือยัง คําว่าปัจจุบันธรรม ทุกขณะลมหายใจเข้าออกเป็นลักษณะอย่างไร เราต้องพยายามสร้างขึ้นมา ไม่ใช่ว่าไปรอเวลาโน้นรอเวลานี้ ลักษณะใจ รู้ความปกติของใจ รู้การขัดเกลากิเลส ทําไมใจถึงเกิด ทําไมใจถึงหลงความคิด ทําไมใจถึงทะเยอทะยานอยาก ทั้งอยากทั้งหวัง ทะเยอทะยานอยาก อยากด้วย หวังด้วย

ในหลักธรรมท่านให้ละความอยาก ละความหวัง แต่บริหารด้วยปัญญา รับผิดชอบด้วยปัญญากําลังสติของเรายังไม่ได้ต่อเนื่อง ยังอบรมใจไม่ได้ เพราะว่าใจพุ่งไปก่อน ความคิดเก่าๆ ปัญญาเก่าๆ บางทีก็เป็นกุศล บางทีก็เป็นอกุศล บางทีก็เป็นกลางๆ แต่เราขาดการรู้ตั้งแต่ต้นเหตุ ก็เลยเอาผิดเอาถูกอยู่ระดับของสมมติ ถูกก็ถูกทั้งก้อน ผิดก็ผิดทั้งก้อน

แต่ตามความเป็นจริงนั้น ความหลงยังปิดกั้นเอาไว้อยู่ เพียงแค่ความเกิดของใจ อาจจะหลงอยู่ในคุณงามความดี หลงอยู่ในบุญกุศล ดีก็ยังดีนะ ดีกว่าหลงไม่ดี ถ้าหลงไม่ดีนี่ทุกข์ ในหลักธรรมท่านว่าความไม่เที่ยงคือความทุกข์ กายก็ไม่เที่ยง จิตก็ไม่เที่ยง ความคิดก็ไม่เที่ยง ที่พากันมาสวดทำวัตร ทุกเช้าทุกเย็น เราต้องเห็นความเกิด ความดับ ความไม่เที่ยงของร่างกายของเรา พยายามดูขณะยังมีกําลังอยู่ หลวงพ่อก็พูดของเก่า เรื่องเก่าทุกวันๆ ไม่พูดเรื่องอื่น ต้องพูดของเก่า เรื่องเก่า เพราะว่ามีกันทุกคน แต่ดำเนินไม่ถึงกันเท่านั้นเอง ย้ำได้แต่เตือน เอาของเก่าให้เห็นเสียก่อน น้อยๆ นี่แหละ ไม่ต้องไปพูดมาก ไปพูดมาก น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง หาจุดยืนไม่มี เอาให้มันเห็น ใกล้ๆ ตัวเรา ในกายในใจของเรา ก็จะเห็นฐานของใจ แล้วก็จะมองเห็นหมดทุกอย่าง ส่วนมากก็ไปเอาตั้งแต่ปลายเหตุ มันก็เลยปิดมิด ปิดกั้นตัวเอาไว้หมด

เพียงแค่ความเริ่มต้นตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ลักษณะของการเจริญสติ ลักษณะของการควบคุม ลักษณะของการพิจารณาอาหาร การอยู่ การขบ การฉัน ตากระทบรูป กายของเราหิวๆ ใจมันจะเกิดความอยาก เราก็รู้จักควบคุม รู้จักพิจารณา รู้จักกะประมาณในการขบฉันของตัวเราทั้งความอยาก ทั้งความไม่อยากด้วย ผลักไส หรือว่าดึงเข้ามา คนมีปัญญาน้อมดูรู้ใจของตัวเอง ที่หลวงพ่อพูดมันเป็นอย่างนี้ๆๆ เอาไปสานต่อ ไม่ทันก็หยุดเอาไว้ รู้ไม่ทันก็ดับเอาไว้ อะไรควรแก้ไข อะไรควรละ อะไรควรเจริญ

เพียงแค่ระดับสมมติ เราทำสมมติของเราได้ดีแล้วหรือยัง อะไรยังขาดตกบกพร่อง ความเป็นอยู่ ปัจจัยสี่เป็นอย่างไร เรามีความสุขในสิ่งที่เรามี ในสิ่งที่เราเป็น ไม่ใช่วิ่งหาความสุขตั้งแต่ภายนอกอย่างเดียว ไปอยู่ที่โน่นจะสุข ไปอยู่ที่นี่จะสุข มันไม่ใช่ เราต้องแก้ไขปัญหา ทั้งสมมติที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว แล้วก็ที่ใจของเราซึ่งเป็นส่วนนามธรรม ความขยันหมั่นเพียร เรามีความขยันหมั่นเพียรพอหรือยัง เรารู้เราเห็น เราทำความเข้าใจได้แล้วหรือยัง เราละได้แล้วหรือยัง มันเกี่ยวเนื่องกันหมด ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกันหมด เหมือนกับเชือกเส้นเดียวมีอยู่ 5 เกลียว แต่เราก็มองเห็นเป็นเชือกเส้นเดียว ในปัญญาของพระพุทธองค์ว่า เชือกเส้นนั้นมันมีกี่เกลียว เกลียวไหนเป็นเกลียวไหนเรื่องอะไร กายของเรานี่แหละมีขันธ์ห้าขันธ์ มันเป็นขันธ์อะไร กองอะไร เหมือนกันนั่นแหละ พิจารณาเหมือนกันหมด

ท่านถึงบอกว่า เข้าไปในป่า เอาใบไม้มากํามือเดียว พิจารณาใบเดียว ใบอื่นก็เหมือนกันหมดท่านว่างอย่างนั้น พระพุทธองค์ท่านว่าอย่างนั้น กายของเราก็มีขันธ์ห้า อาการสามสิบสอง มีวิญญาณเข้ามาครอบครอง แต่คนทั่วไปไม่เข้าใจ ก็มีแต่ไปพิจารณาด้วยปัญญาที่เกิดจากขันธ์ห้า ปัญญาที่เกิดจากใจ ไม่ได้สร้างสติ ไม่ได้เจริญสติเข้าไปควบคุม เข้าไปอบรม เข้าไปแยกเข้าไปแยะ ว่าอะไรเป็นอะไรก็เลยไปเหมารวมกันหมด ก็เลยอยู่ในผิดก็ผิดสมมติทั้งหมด ถูกก็ถูกทั้งหมด เกิดๆ ดับๆ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เป็นกุศล หรือว่าอกุศล ความหมายภาษาธรรม ภาษาโลกเป็นอย่างไร พยายามกันเอา

หลวงพ่อก็ได้เพียงแค่เพียงพูดให้ฟัง ไม่รู้ว่าวันไหนจะไป เพราะสภาพร่างกายก็แย่เต็มทีเหมือนกันส่วนกายเนื้อถึงเวลาเขาก็ต้องแตกต้องดับ ถ้าไม่ถึงเวลาก็ไม่ได้ไป ยังไม่ถึงเวลา เราก็ยังประโยชน์ให้เกิดบุญเกิดอานิสงส์ให้มากมาย มาในวัด เราก็พยายามขยันหมั่นเพียร อย่าไปงอมืองอเท้า คนวัดเป็นคนขยัน ไม่ใช่ว่ามาแล้วก็มาตั้งแต่เอาความเกียจคร้านเข้าใส่ตัวเอง แล้วก็หนักเข้าไปอีก ใช้การไม่ได้ เราต้องมาแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา ทั้งพระ ทั้งโยม ทั้งชีที่มาอยู่ด้วย เราก็มาช่วยกัน สมัยก่อนไม่เป็นอย่างนี้หรอก ดึงแขนมายังไม่อยากจะมาเลย ไม่น่าอยู่ ทุกอย่าง ทีนี้ก็ทุกสิ่งทุกอย่างก็น่าอยู่น่ารื่นรมย์ ทุกคนก็อยากจะมาหาความสุข เราก็ช่วยกัน

ตั้งใจรับพร

ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบายนะ นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียก การน้อมสำเหนียก หมายถึงเราน้อมเข้าไปรู้ในกายของเรา หันมองกลับๆๆ มอง แต่ก่อนเรามองไปข้างหน้าอย่างเดียว ทีนี้เรามองกลับเข้าไปในกายของเรา มอง สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน ฟังไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้ายาวๆ ลึกๆ ผ่อนลมหายใจมายาวๆ การสูดลมหายใจยาว ผ่อนลมหายใจยาวนี้กายของเราก็สบายขึ้นเยอะ ไม่ต้องไปเพ่ง ไม่ต้องไปจ้อง เพียงแค่รู้สึกว่าลมกระทบเข้ากระทบออก แล้วก็ให้ต่อเนื่อง ให้เชื่อมโยง พลั้งเผลอเริ่มขึ้นใหม่ พลั้งเผลอเราก็เริ่มขึ้นใหม่

หายใจยาวก็รู้ หายใจสั้นก็รู้ ก็รู้ให้ต่อเนื่อง นี่แหละเขาเรียกว่า สติรู้กาย รู้ลมหายใจนี้เป็นการรู้กาย ตามรู้ให้ต่อเนื่องให้เข้มแข็ง เผลอแล้วก็เริ่มใหม่ ถ้ากําลังสติความรู้ตัวตัวนี้ต่อเนื่อง เราก็จะรู้ว่าแต่ก่อนนั้นสติตัวนี้ไม่มีเลย มีตั้งแต่ปัญญาที่เกิดจากตัวใจ เกิดจากความคิดเก่าๆ เราค่อยแจงลงไปทีละเรื่องๆๆ เรื่องพันธะ ภาระ หน้าที่สมมติ เราก็พยายามระงับยับยั้งเอาไว้เสียก่อน ขณะนี้เราจะดูรู้ลมหายใจให้ชัดเจน ความหมายของการรู้กายเป็นอย่างไร คําว่าปัจจุบันธรรมเป็นอย่างไร ใจที่ส่งไปภายนอกเขาเป็นอย่างไร ทําไมใจถึงเกิด ทําไมใจถึงหลง ก็จะค่อยไล่แจงลงไปเรื่อยๆ

ศรัทธาเก่า บารมีเก่านั้นมีกันทุกคน มีกันอยู่แล้ว บางทีก็มีมาก บางทีก็มีน้อยแต่เราต้องมาเดินปัญญา ต้องมาทำความเข้าใจ มาสร้างขึ้นมาก่อน ถ้าเราเข้าใจแล้ว เราก็พยายาม ให้รู้ตัวทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ ขับถ่าย จะลุกจะก้าวจะเดิน ความรู้สึกตัวอยู่ที่การเดินเป็นอย่างนี้ เวลาเรานั่งเรานิ่ง ความรู้สึกอยู่ที่การหายใจเข้าออกเป็นอย่างนี้ ลึกลงไปใจปกติเป็นอย่างนี้ คําว่าปกติเป็นลักษณะอย่างไร ความหมายเป็นลักษณะอย่างไร คําว่าศีลคือความปกติ ปกติระดับไหน กายก็ปกติ วาจาก็ปกติ ใจก็ปกติ นั่นแหละคือศีล ทีนี้อธิจิต อธิศีล ลึกลงไปเรื่อยๆ ทําไมใจถึงหลงความคิด เราสังเกตทันเมื่อไร ใจจะคลายออกจากความคิด

นั่นแหละเขาเรียกว่า พลิกจากของที่คว่ำ เหมือนกับหงายขึ้นมา หรือว่าแยกรูปแยกนาม ภาษาธรรมท่านเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ไอ้ที่ไม่หลงความคิด แยกรูปแยกนามเพียงแค่เห็นถูกเริ่มต้นสำหรับตัวปัญญา วิปัสสนา กําลังสติความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมานี้แหละ จะตามดูเห็นการเกิดการดับของความคิดซึ่งเรียกว่า ขันธ์ห้า

ส่วนใจนั้นเขาพลิกเขาหงายเขาก็ว่างรับรู้อยู่ สติตามดู เห็นความเกิดความดับ เขาเรียกว่า เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในขันธ์ห้าของตัวเรา ส่วนมากจะไม่ค่อยเห็นเท่าไร ส่วนมากรวมกันไปแล้ว รู้ว่าคิด รู้ว่าทำ แล้วก็วิ่งตามความคิด สนองกิเลสของความคิด มันก็เลยปิดมิดไว้ตลอด ก็เลยได้แค่ทำบุญให้ทานๆ อยู่เพียงแค่ระดับนี้ แต่การเข้าไปดับทุกข์ รู้เห็นตามความเป็นจริง มองเห็นหนทางเดินจริงๆ ตรงนั้นต้องเป็นบุคคลที่ขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศทีเดียว ถึงจะเอามันอยู่ ก็ต้องพยายามนะ ไม่เหลือวิสัย ไม่ว่าพระว่าโยมว่าชี ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ ขับถ่าย ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน ถ้าจะพักก็พักด้วยปัญญา เอาด้วยปัญญา มีด้วยปัญญา ถึงเวลานั้นเราก็จะเข้าใจไม่หลุดวันนี้ก็ต้องหลุดพรุ่งนี้ ไม่หลุดพรุ่งนี้ก็เดือนหน้าปีหน้า มันไม่หลุดจริงๆ ไปต่อเอาภพหน้า เพราะว่าตราบใดที่จะยังเกิดอยู่

สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจให้ชัดเจน อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวขณะนี้ก็ให้รู้ลมที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง