หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 16

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 16
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 16
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2558 ลำดับที่ 16
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสทางลมหายใจของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบายนะ นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียก ลองสูดลมหายใจยาวๆ ซิ การสูดลมหายใจยาวๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจยาวๆ กายของเราก็สบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็สงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเรา นั่นแหละ เขาเรียกว่า ‘สติ’

ถ้าเรารู้ให้ต่อเนื่องสร้างความรู้สึกตัวให้ต่อเนื่อง เขาเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ เราสร้างขึ้นมาแล้วหรือยัง เราสร้างให้เกิดความเคยชินแล้วหรือยัง เราก็พยายามฝึก ความพลั้งเผลอเมื่อไร เราก็เริ่มใหม่ พลั้งเผลอเมื่อไร เราก็เริ่มใหม่ จนกําลังความรู้ตัวของเราต่อเนื่องแล้วก็เชื่อมโยง ต่อเนื่องเชื่อมโยงแล้วก็ ถ้าใจจะก่อตัว ใจจะเกิด ใจจะปรุงแต่ง เราก็จะเข้าไปดูรู้ลึกของฐานของใจ ว่าเขาก่อตัวอย่างไร เขาเกิดอย่างไร เขาเริ่มปรุงแต่งอย่างไร เราก็รู้จักอบรมใจตัวเอง เอาไปใช้ เอาไปใช้ อบรมใจตัวเอง เขาเรียกว่าส่วนบน ส่วนที่เราสร้างขึ้นมา เขาเรียกว่า ‘สติ’

จากสติก็จะกลายเป็นปัญญา ผู้รู้ ปัญญาเข้าไปรู้ใจ แล้วก็ไปอบรมใจ แต่ส่วนมากก็มีตั้งแต่ปัญญาที่เกิดจากใจ เกิดจากความคิดเก่า คิดก็รู้ ทำก็รู้ แต่เขาหลงอยู่ในความรู้ตรงนั้นอยู่ เพราะว่าการเกิดยังมีอยู่ การปรุง การแต่ง ยินดียินร้าย กุศล อกุศลต่างๆ เราต้องมาเจริญสติเข้าไปวิเคราะห์ จนกว่าใจของเราจะคลายออกจากความคิด ซึ่งภาษาธรรมะท่านเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’

ไม่ใช่ไปนึกเอา ไปคิดเอา เราต้องรู้ เห็น แยก คลาย เหมือนกับหงายของที่คว่ำ แล้วก็ตามดู ก็เห็นความเกิด ความดับของความคิด ถึงเป็นฝ่ายนามธรรม เป็นอาการของขันธ์ห้า ตามดูจนจบ จบเรื่อง เขาเรียกว่าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้า เวลาเขาจบไปความว่างเปล่าเข้ามาปรากฏ เรื่องใหม่ก็เข้ามา บางทีก็เกิดจากใจรวมกันไป ถ้าเราแยกได้ คลายได้ ท่านถึงเรียกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความรู้แจ้งเห็นจริง เปิดทาง แล้วก็ตามดู รู้ให้ละเอียดทุกเรื่อง กําลังสติที่เราสร้างขึ้นมา ถึงจะกลายเป็น เริ่มเป็นมหาสติ

จากมหาสติก็จะกลายเป็นมหาปัญญา อะไร ควรละ อะไรควรเจริญ กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด เกิดขึ้นที่กาย หรือว่าเกิดขึ้นที่ใจ อะไรคือสมมติ อะไรคือวิมุตติ เราก็จะเข้าใจในคําสอนของพระพุทธองค์ เข้าใจ เข้าถึง รู้ด้วยเห็นด้วย แล้วก็ละได้ด้วย มองเห็นหนทางเดินของตัวเรา ถ้าเราปฏิบัติธรรม ไม่รู้เรื่องธรรม มันก็ได้แค่ปฏิบัติ เจริญสติไม่รู้จักเอาสติไปใช้ให้รู้เท่าทันวิธีการแนวทาง ก็ได้แค่รู้จักเพียงแค่เจริญ เราต้องพยายามทำความเข้าใจให้ปรากฏรู้แจ้งเห็นจริง รู้จุดปล่อย รู้จุดวาง ถ้าเรารู้ความจริงแล้วเขาไม่เอาหรอกกิเลส

การเกิดเป็นทุกข์เขาก็ไม่เกิดหรอกใจ แต่ใหม่ๆ ก็ต้องฝืน ต้องทวนกระแส ต้องทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะว่าใจเขาหลงมานาน เขาเกิดมานาน เขาอยู่กับขันธ์ห้ามานาน แล้วเขาก็ปรุงแต่ง หนี ชอบเที่ยวมานานแล้วเป็นทาสกิเลสมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติกี่กัปกี่กัลป์ ท่านว่าเอาไว้อย่างนั้น เรามาทำอยู่ปัจจุบันให้ดี สังเกตวิเคราะห์ ถ้าเรารู้เท่าทันเขาจะแยกออกจากกันเอง เขาจะคลายออกจากกันเอง ไม่ใช่ว่าทำปุ๊บมันได้ปั๊บ ถ้าประจวบเหมาะมันก็จะเห็น เห็นแล้วก็ทำความเข้าใจ แล้วค่อยตามดู ค่อยละ ใหม่ๆ มันก็น่าเบื่อหน่าย ถ้าเราเข้าใจแล้วจะมีความสุข มีความสนุกในการดู ในการรู้ว่ากิเลสตัวไหน มันจะมาเล่นงานเรา กิเลสตัวไหนมันจะมาหลอกเรา เหตุจากภายนอกมาทำให้เกิด หรือเกิดขึ้นจากภายใน

งานสมมติเราก็ยังประโยชน์สมมติให้เกิดประโยชน์ ไม่เพียงแค่สมมติก็ยังแก้ไขปัญหาตัวเองไม่ได้ มันก็เลยลําบากทางด้านวิมุตติ ข้างนอกเราก็ช่วยแก้ไขปัญหาตัวเราด้วย ขยันหมั่นเพียรด้วย ความรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่ว่าสมมติภายนอกก็มีตั้งแต่สร้างปัญหาให้ตัวเองแล้วพาลไป สร้างปัญหาให้กับคนอื่น เราต้องแก้ทั้งภายนอกด้วย ดับทั้งภายในด้วย เจริญพรหมวิหาร ให้เต็มเปี่ยมด้วย นั่นมีไม่มากหรอก ถ้าเราฝักใฝ่สนใจ ส่วนมากมันก็มันจะวิ่งห่างไกล สร้างปัญหามาใส่ตัวเอง แล้วก็กระทบคนโน้นกระทบคนนี้

ถ้าเราเข้าใจทำ ใจคลายออก รับรู้ความเป็นจริง ดับความเกิดของใจของเราแล้ว แล้วก็วางใจ ให้เป็นอิสรภาพ แก้ไขใจตัวเอง อาศัยความเพียร อาศัยความต่อเนื่อง อาศัยการทำความเข้าใจ หมดความสงสัย หมดความลังเล พระพุทธองค์ถึงบอกให้เชื่อ ปฏิบัติอย่างนี้ ทำอย่างนี้ จะเกิดอาการอย่างนี้ แก้ไขอย่างนี้ ปรากฏการณ์เกิดขึ้นอย่างนี้ เมื่อรู้ด้วยเห็นด้วย เข้าถึงด้วย ความเชื่อก็จะ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็มีแต่ทำความเข้าใจ มีแต่ความเพียร

กายวิเวกเป็นอย่างไร ใจวิเวกเป็นอย่างไร การเจริญสติ การปะหัตประหารกิเลสเป็นอย่างไร อยู่ทำความเพียร ไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นเขาบังคับ ไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นเขาพาทำ เกิดขึ้นจากตัวของเรา บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น แก้ไขตัวเราให้ได้อยู่ตลอดเวลา ความอยากแม้แต่นิดเดียว เพียงแค่การเกิดของใจก็อย่าให้มี อยากในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง กายทวารของเราทำหน้าที่อย่างไร วิญญาณในกายทำหน้าที่อย่างไร ภาษาธรรมสักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าฟังเป็นอย่างไร ใจของเรามีความอ่อนน้อม หรือว่าใจของเรามีความแข็งกระด้าง ใจของเรามีทิฏฐิ มีมานะอะไร เรารีบแก้ไขเรา ถ้าใจของเรานิ่ง ว่าง รับรู้ เราก็จะได้ฟังธรรมตลอดเวลา ตื่นขึ้นมามีสติอบรมใจ ของตัวเราเองอยู่ตลอดเวลา

มีความสุข การได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน เราก็มาเทียบเคียงดู รู้ใจของเรา สติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมานี่แหละ จะเป็นครูบาอาจารย์คอยตรวจสอบใจของเราตลอดเวลา ก็จะได้ฟังธรรมตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ใครบ่นให้ เราก็ได้ฟังธรรม ใครว่าให้เราก็ได้ฟังธรรม ตากระทบรูปเราก็ได้ฟังธรรม การขัดเกลาตัวเรานี่แหละ เขาเรียกว่า ‘ธุดงค์’ การขัดเกลากิเลส กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ให้เป็นแค่เพียงอิริยาบถ ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่ ใหม่ๆ เราก็ต้องพยายามหมั่นวิเคราะห์ หมั่นสร้าง หมั่นศึกษา หมั่นทำความเข้าใจ กําลังสติ กําลังสมาธิ กําลังปัญญา ถ้าถึงเวลาแล้วเขาจะรักษาเราเอง เขาจะเป็นเอง ยืน เดิน นั่ง นอน กินอยู่ ขับถ่าย ใจเขาว่างจากการเกิด ว่างจากกิเลส ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ใจก็อยู่ในองค์สมาธิ ใจก็อยู่ในองค์ฌาน

องค์ฌานคือความว่าง ในความว่างนั้นมีใจรับรู้อยู่ มีความสุข ดับความเกิด มองเห็นหนทางเดิน ว่าจะได้กลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิดกัน เพียงแค่นาทีเดียวสองนาที ใจไม่รู้เกิดสักกี่เรื่อง ความคิดผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจสักกี่ครั้ง ก็ไม่รู้ ได้ตั้งแต่รู้ว่า คิดก็ทุกข์ ทำก็ทุกข์ แต่ไม่รู้จักวิธีการที่จะเข้าไปจัดการ ก็ต้องพยายามนะ พยายาม เพราะว่าทุกคนเกิดมาก็มีบุญอยู่แล้ว ในระดับหนึ่ง ได้สร้างบารมีกันมาแล้วในระดับหนึ่ง แต่เราต้องพยายาม แสวงหาใจของเราให้มันเจอ ซึ่งมีอยู่ในกายของเรา

สร้างความรู้สึกรับรู้ให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง