หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 44 วันที่ 14 ธันวาคม 2559

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 44 วันที่ 14 ธันวาคม 2559
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 44 วันที่ 14 ธันวาคม 2559
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2559 ลำดับที่ 44
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 14 ธันวาคม 2559

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสําเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ สัก 2-3 เที่ยว อย่าไปบังคับลมหายใจ หายใจให้เป็นธรรมชาติที่สุด การสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ กายของเราก็จะผ่อนคลายสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเราก็จะชัดเจน

พยายามสร้างความรู้ตัวให้รู้ตัวตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ พอรู้ตัวปุ๊บ รู้ลมหายใจเข้าออกปั๊บ รู้ความปกติของใจ ฝึกให้เกิดความเคยชิน ฝึกความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง ซึ่งเรียกว่า ‘สัมปชัญญะ’ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม รู้กาย รู้ลมหายใจ อันนี้เขาเรียกว่า ‘รู้กาย’ ลึกลงไปก็รู้ความปกติของใจ เห็น รู้ลักษณะอาการเกิดของใจ รู้จักดับ รู้จักควบคุม เห็นอาการของขันธ์ห้า ความคิดที่เราไม่ได้ตั้งใจคิดนั่นแหละผุดขึ้นมา ใจเคลื่อนเข้าไปรวมได้อย่างไร

ถ้าเรามีความรู้ตัวอยู่ปัจจุบัน เราเห็นการเคลื่อนเข้าไปรวม ใจก็จะคลายออกจากขันธ์ห้า ซึ่งเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ หรือเรียกว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ ความเห็นจริง เปิดเผยขึ้นมา ปรากฏขึ้นมา ความรู้ตัวของเราก็จะรู้เห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้าเป็นเรื่องอะไร เป็นเรื่องอดีต เรื่องอนาคต หรือเป็นกุศลหรือว่าอกุศล ใจที่คลายออกจากขันธ์ห้าเขาก็จะว่าง โล่ง โปร่ง เหมือนกับหงายของที่คว่ำ เราก็ทําความเข้าใจ

ถ้าแยกรูปแยกนามได้ เห็นการแยกเห็นการคลายได้ เราก็จะเข้าใจในคําสอนของพระพุทธองค์ว่าท่านสอนเรื่องอะไร สอนเรื่องสมมติ สอนเรื่องวิมุตติ สอนเรื่องอัตตา อนัตตา สอนเรื่องหลักความจริงอันประเสริฐสี่ หลักของอริยสัจ เห็นการเกิดการดับของตัววิญญาณ เห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้า ทําความเข้าใจทุกเรื่อง ตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดําเนิน เราก็จะเข้าใจ เข้าถึง ทําความเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าอะไรควรละ อะไรควรเจริญ

แต่เวลานี้กําลังสติความรู้ตัวมีน้อย บางคนก็มีอยู่บ้างกะปริบกะปรอย ไม่พยายามสร้างให้ต่อเนื่อง ถ้าเราสร้างให้ต่อเนื่อง ส่วนการเกิดการดับของใจนั้นมีอยู่ มีอยู่ตลอด การเกิดการดับของขันธ์ห้านั้นมีอยู่ เราต้องการเจริญสติเข้าไปดู เข้าไปรู้ให้ทัน การเกิดการดับของใจ

บารมีส่วนอื่นนั้นมีกันทุกคน การฝักใฝ่ การสนใจศรัทธา มีความเชื่อมั่น ผ่านการผ่านเวลา ได้รับการศึกษา ได้รับการเล่าเรียน ผ่านกาลผ่านเวลา ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านทุกข์ผ่านสุขมา ทีนี้การเจริญสติของเราเข้าไปดูรู้เห็นการเกิดการดับของตัววิญญาณซึ่งเป็นนามธรรมตรงนี้ เราไม่ค่อยจะสนใจกันเท่าไร ไม่ค่อยจะมีกันเท่าไร

การทําบุญให้ทานนั้นมีอยู่ตลอด ศรัทธานั้นก็มี แต่ให้เป็นศรัทธาที่เกิดจากการเจริญภาวนา เกิดจากการเจริญสติเข้าไปทําความเข้าใจ เห็นเหตุเห็นผล ชี้เหตุชี้ผล เหตุผลทางสมมติก็มี เหตุผลทางวิมุตติก็มี แต่เรายังเข้าไม่ถึงเหตุถึงผล แยกแยะไม่ได้ ก็มองเห็นแค่ความถูกต้องระดับของสมมติ แต่ใจก็ยังหลงอยู่

ตราบใดที่มีการเกิด ความเกิดนั่นแหละความหลงอันลุ่มลึก ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด เขาหลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ หลงอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ จนกระทั่งมาก่อร่างสร้างกายมนุษย์ขึ้นมา มีขันธ์ห้าก็มาปิดกั้นตัวใจเอาไว้อีกทีหนึ่ง แล้วใจเขาเกิดต่ออีก เป็นทาสของกิเลสอีก

ท่านถึงให้เจริญสติลงที่กายแล้วก็ไปอบรมใจของตัวเรา จนกว่าใจของเราจะรู้เห็นการแยกการคลาย แยกรูปแยกนามตามดูเห็นตามความเป็นจริง กายทําหน้าที่อย่างนี้ วิญญาณในขันธ์ห้าทําหน้าที่อย่างนี้ อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดําเนิน ความรู้ตัวของเราพลั้งเผลอเราก็เริ่มขึ้นมาใหม่ ความรู้ตัวพลั้งเผลอก็เริ่มขึ้นมาใหม่ สติของเราอ่อนหรือว่าสติของเราขาด นิวรณธรรมเป็นอย่างไร ความกังวล ความฟุ้งซ่าน การละ การแก้ไข การปรับปรุง หมั่นพร่ำสอนใจของเราอยู่ตลอดเวลา สักวันหนึ่งเราก็คงจะเดินถึงจุดหมายปลายทางกัน

กายวิเวกเป็นอย่างนี้ กายวิเวกจากความคิดจากอารมณ์ วิเวกจากภาระหน้าที่การงาน ใจวิเวกจากความคิดจากขันธ์ห้า ใจไม่มีกิเลสเป็นลักษณะอย่างนี้ สติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมาต้องเข้มแข็ง ลักษณะของการเจริญสติ ฝึกสติไม่รู้จักสติ ฝึกสติให้เข้มแข็งไม่รู้จักเอาสติปัญญาไปใช้แล้วก็เข้าไม่ถึง เราก็ไม่เห็นลักษณะของการเกิดการดับของใจ ฝึกใจไม่รู้จักลักษณะของใจ ได้แต่ฝึก ได้แต่ฝึกตามรูปแบบ ตามวิธีการแนวทาง มันก็เข้าไม่ถึง

ความละอาย ความละอายที่เกิดจากใจของเราเป็นอย่างไร ละอายเกรงกลัวต่อบาป ให้กล้าหาญในสิ่งที่ควรกล้าหาญ ให้เชื่อมั่นอยู่ในตัวของเรา ให้เชื่อมั่นในทางที่ถูก อะไรที่เป็นกุศล บุญระดับสมมติ บุญระดับวิมุตติ เราก็ต้องพยายามยัง พยายามสร้างขึ้นมาให้มีให้เกิดขึ้นที่ใจของเรา สักวันหนึ่งเราคงจะเดินถึงจุดหมายปลายทางกัน เดินถึงช้าหรือถึงเร็ว เราก็ต้องพยายามเดิน

ตราบใดที่ยังเกิดอยู่ เราก็ต้องพยายามดับความเกิด เราไม่อยากจะเกิด เราก็ต้องละความเกิด ความเกิดของวิญญาณ ดับความเกิดของวิญญาณ ละกิเลส แต่เวลานี้เขาเกิดมาอยู่ในภพมนุษย์ ใจทุกดวงนั้นสอนได้ อบรมได้ แก้ไขได้ คือถ้าเราไม่สอนตัวเราแก้ไขตัวเรา ไม่มีใครที่จะสอนเราได้เลย นอกจากตัวเรา ครูบาอาจารย์แนวทางนั้นมีเป็นแค่เพียงแผนที่ชี้แนะแนวทางให้ การเจริญสติเป็นอย่างนี้ การดับ การแยก การคลาย การตามดู การรู้ การเห็น การทําความเข้าใจ การละ การละกิเลสหยาบเป็นอย่างไร กิเลสละเอียดเป็นอย่างไร ให้รู้ด้วย เข้าถึงด้วย ประกาศด้วยตนเองได้ด้วยว่าเราถึงไหน ไปอย่างไร มาอย่างไร เราจะได้กลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิดกัน

แต่เวลานี้กําลังสติของเราอาจจะมีบ้าง แต่ไม่มาก เราก็ต้องพยายามทําให้ได้ทุกอิริยาบถ จิตเป็นอัตโนมัติในการดู ในการรู้ ใจที่ไม่มีกิเลสเขาก็บริสุทธิ์ ใจที่ไม่เกิดเขาก็นิ่ง แต่เวลานี้ทั้งเกิด ทั้งวิ่ง ทั้งหลง เราต้องมาเจริญสติเข้าไปอบรมใจของเรา ชนะตัวเราแล้วเราชนะหมดทุกสิ่งทุกอย่าง อย่าผัดวันประกันพรุ่ง เราก็ต้องพยายาม เอาตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ช่วงใหม่ๆ ก็อาจจะเป็นการฝืน เป็นการทวนกระแสกิเลส ทุกอย่าง ทุกอย่างในชีวิต

ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ความอยากเป็นอย่างไร ความหิวเป็นอย่างไร กายหิว ใจเกิดความอยาก เราดับความอยากได้ความคิดได้ เราก็หนุนกําลังสติปัญญาไปทําหน้าที่แทน ใจเป็นบุญ กายเป็นบุญ ยิ่งสนุกสร้างบุญ ไปที่ไหนเราก็อย่าไปลืมในการสร้างอานิสงส์ให้เกิดขึ้นในกายในใจของเราโอกาสเปิด กาลเวลาเปิด สถานที่เปิด ไม่ว่าอยู่ที่ไหนให้เรารีบทํา ทั้งการเจริญสติการเจริญภาวนา จนหมด ขัดเกลากิเลสออกหมดจากจิตจากใจของเราแหละ มันไม่หมดวันนี้ก็ต้องหมดพรุ่งนี้ ไม่หมดพรุ่งนี้ก็หมดเดือนหน้า มันไม่หมดจริงๆ จะไปต่อภพหน้าในสิ่งที่พวกเราทํา

สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ทําใจให้ว่าง สมองให้โล่ง ทํากายให้โปร่ง มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกันนะ

ไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อทําความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง