หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 27 วันที่ 22 มีนาคม 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 27 วันที่ 22 มีนาคม 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 27 วันที่ 22 มีนาคม 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 2 (ลำดับที่ 21-40)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 27
วันที่ 22 มีนาคม 2557


เจริญธรรมญาติโยมทุกคนทุกท่าน ขอให้ญาติโยมจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา เราได้สร้างความรู้ตัว เราได้สังเกต เราได้วิเคราะห์ เราได้ทำความเข้าใจกับจิตวิญญาณของเราแล้วหรือยัง


ตื่นขึ้นมาปุ๊บ รู้ใจของตัวเราเองว่าขณะนี้ใจปกติ ใจสงบ ใจส่งไปภายนอกเป็นกุศลหรือว่าอกุศล เหตุจากภายนอกมาทำให้ใจเกิดความคิด ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจของเราได้อย่างไร เราพยายามรีบพิจารณา รีบแก้ไขปรับปรุงตัวเราอยู่ตลอดเวลา หมั่นพร่ำสอนใจของเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าจะปล่อยวันเวลาทิ้ง เสียดายเวลา


พวกเรามีโอกาส โอกาสได้เปิดให้ ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อะไรที่จะเป็นกุศล ให้เรารีบทำรีบสร้างเสีย อะไรที่จะนำความสุขมาให้ อยู่ในระดับของสมมติ ลึกลงไปก็ระดับของวิมุตติ ใจที่คลายออก คลายออกจากความคิด ซึ่งเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ ทำความเข้าใจ ละกิเลสออกจากใจของเรา ละได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็พยายามละ


ชีวิตของคนเราเกิดมาอย่างไร จะไปอย่างไร จะอยู่อย่างไร พระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอะไร เราพยายามศึกษา เน้นลงอยู่ที่กายที่ใจของเรา ท่านสอนเรื่องอัตตา อนัตตา คำว่า ‘อัตตา’ เป็นยังไง ‘อนัตตา’ เป็นยังไง การสร้างคุณงามความดีเป็นยังไง การเจริญพรหมวิหารเป็นอย่างไร อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง เวลาโน้นถึงจะทำ เวลานี้ถึงจะทำ เราทำได้ตลอดเวลาทุกลมหายใจเข้าออก ท่านถึงบอกว่าปัจจุบัน


‘ปัจจุบันธรรม’ คือ ทุกขณะใจ ทุกขณะจิต ทุกขณะลมหายใจเข้าออก ก่อนที่เราจะรู้ทุกขณะลมหายใจเข้าออก เราต้องมีความเพียรอย่างยิ่งยวด ขนาดการเจริญสติของเราก็ยังทำไม่ต่อเนื่อง การสังเกตการวิเคราะห์การเอาสติปัญญาไปใช้ก็ยังยากอีก เพียงแค่การสร้าง การทำให้มีให้เกิดก็ยากอยู่ การเอาไปใช้ การสังเกตการวิเคราะห์ใจ มันก็ยิ่งยากเข้าไปอีก ถ้าเราไม่มีความเพียร


ถ้าเรามีความเพียร จากยากก็จะเป็นง่าย จากความไม่เข้าใจเราก็จะเข้าใจ ยิ่งไม่เข้าใจเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเพิ่มความเพียรให้เป็นทวีคูณ ไม่ใช่ว่าทำปุ๊บมันจะได้ปั๊บ ส่วนมากก็มีตั้งแต่ความอยากปิดกั้นเอาไว้ อยากได้บุญ อยากได้ธรรม อยากรู้ธรรม ความอยากที่เกิดจากตัวใจนั้นแหละ เขาปิดกั้นตัวเขาเอาไว้หมดเลย


การปรุงแต่งก็ปิดกั้นตัวเอาไว้ ยังมาสร้างกายเนื้อ มาสร้างขันธ์ห้ามาปิดกั้นตัวใจเอาไว้ กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด พวกมลทิน พวกอคติ พวกเพ่งโทษ พวกความโลภ ความโกรธ ความอยากน่ะปิดกั้นไว้หมด
เพียงแค่การเกิดการก่อตัวนั้น เขาก็ปิดกั้นตัวเขาเอาไว้ จะว่าเป็นของละเอียดที่แยบคายมากทีเดียว


ถ้าเรารู้ความเป็นจริงแล้วก็จะง่ายขึ้น เราละกิเลส ละทิฏฐิ สังเกตให้รู้ให้แยกได้เสียก่อนถึงจะละทิฏฐิ ละความเห็นผิดได้ ถ้าแยกไม่ได้มันก็เห็นเหมือนใจของเราก็เข้าไปหลงขันธ์ห้าอยู่ ความเห็นผิดตรงนั้นก็ยังมีอยู่
แต่อาจจะเป็นถูกอยู่ในระดับของสมมติ ถูกอยู่ในระดับของกองบุญกองกุศล


หลายสิ่งหลายอย่าง ถ้าไม่รู้เห็นแก่ใจของตัวเรา เราก็ยากที่จะเข้าใจ เราต้องอาศัยปัญญาของผู้รู้ คืออาศัยปัญญาของพระพุทธองค์ ท่านบอกให้ปฏิบัติตามอย่างนี้ ทำอย่างนี้ รู้เห็นอย่างนี้ ตามทำความเข้าใจให้ได้อย่างนี้ ท่านถึงบอกให้เชื่อ ใจที่ไม่เกิดเขาก็สงบ ใจที่ไม่มีกิเลส เขาก็บริสุทธิ์ ใจที่คลายออกจากขันธ์ห้า เขาก็ว่าง เขาก็พลิก เขาก็หงาย ตามทำความเข้าใจ


แล้วจะพลั้งเผลอให้กิเลสตัวไหนบ้าง เราก็แก้ไขตัวเรา จากนาที สองนาที เป็นห้านาที เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี จนเป็นอัตโนมัติ เพียงแค่ห้านาที ใจของเราส่งออกไปภายนอกสักกี่เรื่อง ความรู้ตัวของเราพลั้งเผลอสักกี่ครั้ง มีตั้งแต่วิ่งหา ดิ้นรนหา มันก็ได้อยู่ การหาก็ได้อยู่ มันก็ได้อยู่ในบุญในกุศลนั้นแหละ ถ้าหาบุญมันก็ได้บุญนั้นแหละ ถ้าหาใจมันก็รู้ใจนั้นแหละ แต่ไม่รู้จักรักษา


การรักษา การประคับประคอง การสร้างกำลังใจ สร้างพลังใจเป็นอย่างไร ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างไร การดูแลใจ การบริหารเอาสติปัญญาไปทำหน้าที่แทนได้อย่างไร มันต้องเชื่อมโยงต่อเนื่องเด็ดขาด ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน หมั่นเคี่ยวเข็ญตัวเรา แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเราทุกเรื่อง เพียงแค่ระดับของสมมติ พวกเราก็ยังทำกันไม่บริบูรณ์ ระดับใช้ชีวิตในระดับของสมมติอยู่ในโลกธรรม


ความเป็นอยู่ทางสมมติเป็นอย่างไร ทางกายเป็นอย่างไร สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เรามีความรับผิดชอบเพียงพอหรือไม่ เรามีความขยันเพียงพอหรือไม่ ก็ต้องพยายามกันนะ ไม่เหลือวิสัยหรอก ค่อยทำค่อยเป็นค่อยไป มันไม่หมดจดวันนี้ ก็วันพรุ่งนี้ต้องหมดจด ไม่หมดจดวันนี้ เดือนหน้า ปีหน้า มันไม่หมดจดจริงๆ มันจะไปต่อเอาภพหน้า เพราะว่าจากตราบใดที่ใจยังเกิดอยู่ มันก็ต้องเกิดอยู่เรื่อยร่ำไป


ถ้ายังดับความเกิดไม่ได้ ก็ขอให้เกิดอยู่ในกองบุญกองกุศลเอาไว้ สิ่งพวกนี้จะไปบังคับกันไม่ได้ แล้วแต่วิบากกรรมของแต่ละบุคคล หายใจแทนกันไม่ได้ แต่บอกวิธีได้ เราต้องทำเอา แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา ไม่มีใครที่จะสอนเราได้เลย นอกจากตัวเรา นอกนั้นก็เป็นแค่เพียงแผนที่ชี้แนะแนวทางให้ แนวทางนั้นพระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบมาตั้งนานแล้ว ตั้งสองสามพันปีแล้ว แต่พวกเรายังเดินไม่ถึงจุดหมายกัน ก็ต้องพยายามเดินไปเรื่อย ๆ ทำความเข้าใจไปเรื่อย ๆ ได้บ้างไม่ได้บ้างก็พยายามทำ แต่อย่าไปทิ้งบุญ พยายามหน่วงเหนี่ยวสร้างบุญสร้างกุศลเอาไว้ เป็นข้าวพกข้าวห่อ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เราทำมากก็เป็นของเรา ทำน้อยก็เป็นของเรา เห็นคนอื่นเขาทำ เราก็พลอยอนุโมทนาสาธุด้วย เราก็มีส่วนบุญในสิ่งๆ นั้นด้วย


เอาล่ะวันนี้ก็เจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจกันเอา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง