หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 18 วันที่ 29 กันยายน 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 18 วันที่ 29 กันยายน 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 18 วันที่ 29 กันยายน 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 1 (ลำดับที่ 1-20)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 18
วันที่ 29 กันยายน 2557


ขอให้ญาติโยมเราทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจเข้าออกของเราให้ชัดเจน ไม่เฉพาะโยม ทั้งพระ ทั้งชี ทุกคน ต้องพยายามสร้างความรู้ตัวตั้งแต่ตื่นขึ้นมา เราได้รู้จักการเจริญสติให้ต่อเนื่องให้เชื่อมโยงแล้วหรือยัง


ทั้งที่ใจของทุกคนก็เป็นบุญ ใจของทุกคนก็มีศรัทธา น้อมกายเข้ามา แต่การทำความเข้าใจให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงตรงนี้แหละ ขาดความเพียร ขาดความเพียรกันมาก ใจก็เลยเกิด เลยวิ่งอยู่ตลอดเวลา ความคิดกับใจก็รวมกันไปอยู่ตลอดเวลา ส่งเสริมความคิดปัญญาของโลกีย์ อาจจะถูกอยู่ระดับหนึ่ง อาจจะอยู่ในกองบุญกองกุศล แต่ยังหลงอยู่


เราต้องมาสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง ให้เชื่อมโยง ลงที่กายของเราให้ได้เสียก่อน ทีนี้ก็รู้ลึกลงไป รู้ความปกติของใจ รู้ไม่ทันต้นเหตุหยุดเอาไว้ ดับเอาไว้ ซึ่งเรียกว่า ‘สมถะ’ ดับบ่อยๆ สังเกตบ่อยๆ ดับบ่อยๆ แล้วก็ใจก็จะคลายออกจากอาการของใจ ซึ่งเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’ เราก็จะเข้าใจคำว่า ‘อัตตา-อนัตตา’ เข้าใจคำว่า ‘สมมติ’ คำว่า ‘วิมุตติ’ เห็นการเกิด


การศึกษาการเล่าเรียนนี้มีมานาน พวกเราเกิดมาในยุคที่สบายขึ้นมาหน่อย เพราะว่าตำราครูบาอาจารย์ก็มีเยอะ ตั้งแต่ช่วงก่อนๆ รุ่นก่อนๆ นี่หายาก หาอ่านยาก ครูบาอาจารย์นี่ก็ยาก แต่ถ้าเราเข้าใจแล้ว ครูบาอาจารย์ก็อยู่กับตัวของเรานี่แหละ เจริญสติเข้าไปอบรมใจ สติปัญญานี่ก็จะเป็นอาจารย์สอนใจของเรา สิ่งต่างๆ ก็จะเป็นอาจารย์ทดสอบใจของเรา ว่าใจของเราเกิดกิเลสมาก เกิดกิเสสน้อย เราละกิเลสได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ลึกลงไปทำไมใจถึงเกิด ทำไมใจถึงหลงความคิด อะไรคือส่วนรูปธรรม อะไรคือส่วนนามธรรม


สติที่เราสร้างขึ้นมาที่หลวงพ่อย้ำอยู่ทุกวันนี่แหละ ความรู้ตัวนี่แหละ ถ้าต่อเนื่องเห็นการเกิด การดับ แยกได้คลายได้ ก็จะเป็นอาจารย์คอยตรวจสอบ อบรมใจของเราอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเรียกว่า ‘ตนเป็นที่พึ่งของตน’ ในระดับของทางด้านวิมุตติ ทางด้านจิตใจ สมมติโลกธรรม เราก็พยายามยังสมมติของเราให้ดี แก้ไขสมมติทำหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีความขยันหมั่นเพียร มีความเสียสละ ยังสมมติให้เกิดประโยชน์ กายของเราทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร โลกธรรมแปด ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ นินทาต่างๆ ในสิ่งที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว


เราจงอยู่ด้วยปัญญาล้วนๆ บริหารด้วยปัญญาล้วนๆ ก็นับว่าโชคดีของทุกคน ก็พยายามทำใจของเรา เจริญสติเข้าไปอบรมใจ คลายใจของเราให้อยู่ในกองสัมมาทิฎฐิ คือความเห็นถูก คือใจที่คลายออกจากขันธ์ห้านี้ เขาเรียกว่า ‘เห็นถูก’ ในชั้นแรกเลย เขาเรียกว่า ‘สัมมาทิฎฐิ’ มีความรู้แจ้งเห็นจริง เพียงแค่แยกได้ คลายได้ แต่ถ้าไม่ทำความเข้าใจให้รู้ทุกเรื่องอีก เขาก็ซึมเข้าสู่สภาพเดิมอีก แยกได้ คลายได้ ตามดู เราก็จะเห็นคำว่า ‘ความเกิด ความดับ’ หรือว่า ‘อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา’ เราอย่ารู้ตั้งแต่ว่า คำว่าได้ยิน ได้ฟัง ต้องเห็น ทำตาม ดู รู้ เห็น ตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ จนใจยอมรับความเป็นจริงได้ทุกเรื่อง


แต่เวลานี้กำลังสติของเรามันมีน้อย ไม่ค่อยจะมีเลยทีเดียว ความรู้ตัวที่ต่อเนื่องกันเป็นอย่างไร ความรู้ตัวที่เชื่อมโยงกันเป็นอย่างไร นี่ลักษณะของใจที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างไร ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร กายวิเวกเป็นอย่างไร ใจวิเวกเป็นอย่างไร ใจวิเวกจากความคิด ใจวิเวกจากการเกิดเป็นอย่างไร ก็ต้องพยายาม ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็พยายามทำกัน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา อย่าไปนึกเอา อย่าไปคิดเอา


ทุกคนก็มีบุญเหมือนกันหมดนั่นแหละ นี่เพียงแค่ระดับสมมติ เรามีความรับผิดชอบเต็มเปี่ยมหรือไม่ เรามีความขยันหมั่นเพียรเต็มที่หรือไม่ เรามีความเห็นแก่ตัว ทุกอย่างก็ล้วนตั้งแต่อยู่ในกาย ในใจของเราหมด ถ้าไปแสวงหาที่อื่นนั่นก็เพียงแค่ไปหาประสบการณ์เท่านั้นเอง แต่หาประสบการณ์ เปลี่ยนประสบการณ์ที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง อย่าไปโทษคนโน้น อย่าไปโทษคนนี้ ไปที่โน่นก็ที่โน่นไม่ดี ไปที่นี่ก็ที่นี่ไม่ดี ก็ใจของเรามันไม่ดีมันถึงมองโลกไม่ดี ถ้าใจของเราดีแล้วก็มองโลกดี อะไรไม่ดีเราก็รีบแก้ไขเสียให้มันดี


ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ความเป็นอยู่ของเราเป็นอย่างไร ที่พักที่อาศัยของเราเป็นอย่างไร สติปัญญาพากายไปให้ใจรับรู้ ไปอยู่ที่ไหนต้องเน้นลงที่ฐานเดิม ให้รู้ฐานของใจ รู้การเกิดการดับของใจ แยกแยะให้ได้เสียก่อน ไปอยู่ที่ไหนถ้าเราไม่เข้าถึงตรงนี้ก็มีตั้งแต่ความวิ่ง ความเกิด ของปัญญาโลกีย์ มันก็หลอกเราอยู่ตลอดเวลา ในลึกๆ ลงไปแม้แต่ตัวใจก็ยังหลอกตัวเอง


การเกิดมันก็หาเรื่องหาราวสารพัดเรื่องที่จะมาปิดบังอำพรางตัวเอง ขันธ์ห้าก็มาหาเรื่องมาหลอกตัวเอง ปิดกั้นตัวเอง เพราะเขาเกิดมานาน เขาอยู่ร่วมกันมานาน ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้วที่หลงวนเวียนว่ายตายเกิดอยู่นี้
ถ้าเรามาสังเกต มาวิเคราะห์ แยกออกเหมือนกับเราตัดวงกลมออก เราไม่ให้วงกลมเชื่อมกัน ตามทำความเข้าใจ เราละอัตตาตัวตน ละกิเลส ดับความเกิดของวิญญาณ เราก็หยุดเกิดตั้งแต่ยังมีลมหายใจอยู่โน่น อยู่นี่แหละใจไม่เกิด ก็รู้ว่าใจไม่เกิด ใจมีกิเลสตัวไหน เราพยายามละกิเลส ละทีนั้นทีนี้ก็เหือดแห้งลงไปเรื่อยๆ เหือดแห้งลงไปเรื่อยๆ จนถึงฐานที่เขาเกิด เราดับขณะที่เขาก่อตัว แล้วก็จะถึงตัวใจ มันเกิดอีกเราดับอีก มันเกิดอีกเราดับอีก คลายความหลงเสียก่อน แล้วดับก็ทำความเข้าใจให้รู้เรื่องเสียก่อน


ไม่ใช่ว่าปฏิบัติธรรม ไม่รู้เรื่องว่าปฏิบัติเพื่ออะไร เจริญสติเพื่ออะไร การเจริญสติก็ไม่รู้จักลักษณะของสติ การดูใจก็ไม่รู้จักลักษณะของใจ รู้ตั้งแต่เมื่อเขาเกิดไปแล้ว เขารวมกันไปแล้ว เราต้องรู้ต้นเหตุ รู้ ทำความเข้าใจจนหมดความสงสัย


เพียงแค่คำว่า ‘อาการ’ กับ ‘อาการกับมายา’ มายาไม่มีตัวไม่มีตนเป็นอย่างไร ท่านว่าเป็นกองเป็นขันธ์ เป็นอย่างไร การเกิดของใจ ใจที่ส่งออกไปภายนอก ใจที่รวมกับความคิดเป็นอย่างไร ใจที่คลายออกเป็นอย่างไร มันมีเหตุมีผลหมด เว้นเสียแต่ว่าพวกเราจะเข้าถึงเหตุถึงผล ทำความเข้าใจให้รู้เรื่องทุกเรื่อง หมดภาระหน้าที่ จนอยู่อย่างมีความสงบ ความสุข สติ ปัญญา สมาธิ ก็จะรักษาเรา


แต่เวลานี้สติก็ยังมีน้อยนิด จะเอาไปใช้การใช้งานได้อย่างไร ปัญญามันจะมีได้อย่างไร เพียงแค่การเจริญสติก็ยังไม่ต่อเนื่องเชื่อมโยม การควบคุมใจก็ยังไม่มี ใจคลี่คลายออกจากขันธ์ห้าก็ยังไม่มี การตามดู รู้แจ้งเห็นจริงทุกเรื่องก็ยังไม่มี มันก็ยังอยู่ในกองบุญกองกุศล ในอานิสงส์ผลบุญอยู่


เราพยายามฝักใฝ่ ถึงใจของเราละไม่ได้เด็ดขาด ก็ขอให้ใจอยู่ในกองบุญเอาไว้ น้อมเข้ามาอยู่ในกองบุญเอาไว้ ทุกเรื่องในชีวิตของเรา จนกว่าจะหมดลมหายใจ อย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง อย่าไปปล่อยเวลาทิ้ง ในหลักธรรมจริงๆ ไม่มีอะไรเลย มีแต่ความว่างเปล่า แม้แต่ตัวใจ ตัวใจก็ละวางได้หมด แล้วก็วางใจให้คืนสู่ธรรมชาติหมด คือความว่าง ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ในความว่างนั้นมันมีวิญญาณอยู่


นอกจากปัญญาของพระพุทธเจ้าเท่านั้นแหละ ที่จะศึกษาให้รู้แจ้งเห็นจริง แล้วเอามาเปิดเผย เราพยายามปฏิบัติให้ปรากฏให้เห็นขึ้นที่ใจของเรา ท่านถึงบอกให้เชื่อ ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย แสวงหาที่กาย ที่ใจของเราให้มันรู้แจ้งเห็นจริง ที่เราไปโน่นไปนี่ก็เพราะว่าวิบากกรรม วิบากกรรมชักนำให้เราไปแสวงหาแนวทาง แสวงหาหนทาง เรารู้จักวิธี รู้จักแนวทาง เราจัดการตัวเราตั้งแต่ตื่นขึ้นมา หมดความสงสัย หมดความลังเล ไม่ต้องไปกังวลว่าจะเสียเปรียบกิเลสคนโน้น เสียเปรียบกิเลสคนนี้ เราชนะตัวเราแล้ว เราก็จะชนะไปหมดทุกอย่าง จนกว่าจะหมดลมหายใจ พอหมดลมหายใจ ก็ยังมองเห็นหนทางเดิน ว่าเราจะได้กลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิด


ให้พยายามทำชีวิตของเราให้กระจ่างเสีย ขณะที่เรายังมีกำลังอยู่ ยังมีลมหายใจอยู่ อย่าไปโทษคนโน้น อย่าไปโทษคนนี้ อะไรไม่ดีเราก็รีบแก้ไข


เรามาอยู่รวมกันร่วมกัน หลายคน หลายทิศ หลายที่ หลายทาง ก็ขอให้มีตั้งแต่ความเมตตา มีความสมัครสมานสามัคคี อย่ามาอคติกัน อย่ามาเพ่งโทษกัน มาอยู่คนละทิศ ละที่ ละทาง บางทีก็มาทะเลาะเบาะแว้งกันแล้วก็ไป ทั้งที่มาเพื่อที่จะมาแสวงหาแนวทาง หาทางดับทุกข์ หาทางหลุดพ้น มาแล้วก็มาเกะกะระราน ใช้การไม่ได้ มีแต่คนพาล


ถ้าเรารู้จักแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา อยู่คนเดียวก็มีความสุข อยู่หลายคนก็มีความสุข มีอะไรเราก็ช่วยกันทำ ยังประโยชน์สมมติให้เกิดประโยชน์ ถึงเวลาแล้วเราก็ต้องได้ไป พลัดพรากจากกัน ไม่ได้พลัดพรากจากกันตอนเป็น ก็ต้องได้พลัดพรากจากกันตอนตาย เป็นกฎของไตรลักษณ์ กฎของความเป็นจริง เราทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสีย ไปอยู่ที่ไหนเราก็จะได้ไม่เก้อไม่เขิน ไปอยู่ที่ไหนเราก็จะมีแต่ความองอาจกล้าหาญ ให้ละอายในสิ่งที่ควรละอาย ให้กล้าหาญในสิ่งที่ควรกล้าหาญ ไปที่ไหนก็จะมีตั้งแต่ความสุข


เอาหล่ะวันนี้ขอเจริญธรรมเพียงแค่นี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน จงไปทำศึกษา ทำความเข้าใจต่อกันเอา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง