สวนร่มเย็ญ

ข้อมูลทั่วไป
สวนร่มเย็ญ

 

ความเป็นมา

    ปี 2563 เป็นปีที่ไวรัสโควิดแพร่กระจายไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ในขณะที่การเข้าถึงวัคซีนยังจำกัด เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ และทวีความรุนแรงจนเกินกำลังบุคลากรสาธารณสุข ภาครัฐจึงขอให้ประชาชน ‘อยู่ในพื้นที่ของตน’ เป็นการชั่วคราว เด็กเรียนจากที่บ้าน คนทำงานก็ทำงานจากที่บ้าน วัดวาอารามงดต้อนรับบุคคลภายนอก เว้นจากการบิณฑบาต งดการบรรพชาอุปสมบทต่างๆ ไปก่อน 

    พระจิตร์ จิตฺตสํวโร จึงกราบขอหลวงพ่อกล้วย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร ผู้เป็นครูบาอาจารย์ มาปลีกวิเวก ภาวนากับปลูกป่าในพื้นที่ที่ทิ้งร้างมากว่า 10 ปี หลวงพ่อให้อนุญาต และตั้งชื่อพื้นที่แห่งนี้ว่า ‘ร่มเย็ญ’ 

    หลังงานกฐินประจำปี 2563 และพิธียกยอดฉัตรพระมหาเจดีย์พุทธเมตตาหลวง ที่วัดป่าธรรมอุทยานในเดือนธันวาคม พระจิตร์ จิตฺตสํวโร ย้ายมาพำนักที่นี่ เริ่มปลูกต้นไม้ไปพร้อมๆ กับพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางให้มีสุขอนามัย โดยเริ่มต้นจากโรงครัว หอฉัน และห้องน้ำรวม ในปี 2564 คนงานรายวันสูญเสียอาชีพ จึงว่าจ้างชาวบ้านในละแวก 4-5 คน ที่จำเป็นต้องหารายได้เพื่อจุนเจือครอบครัว มาปลูกป่าและพืชผัก ผลผลิตที่ได้ก็นำไปแบ่งปันกับผู้ที่ขาดแคลน 

    ความเปลี่ยนแปลงใหญ่เกิดขึ้นอีกในวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 เมื่อพี่น้องวัดป่าธรรมอุทยานแจ้งว่าหลวงพ่อกล้วยละสังขาร พระจิตร์ซึ่งอาสาดูแลสื่อธรรมต่างๆ ตั้งแต่ครั้งหลวงพ่อยังทรงธาตุขันธ์ จึงตัดสินใจพัฒนาสถานที่แห่งนี้ให้เป็นที่รวบรวม และเผยแพร่โอวาทธรรมคำสอนของหลวงพ่อ 


ความเป็นอยู่ 

    นอกจากการสืบสานพระธรรมคำสอนของหลวงพ่อกล้วย พี่น้องสวนร่มเย็ญล้วนเลื่อมใสในปฏิปทาของหลวงพ่อ และพยายามที่จะสืบสานวิถีที่หลวงพ่อเป็นแบบอย่างเอาไว้อย่างดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสติให้ต่อเนื่อง การอาศัยการงานเป็นการปฏิบัติ ความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบ ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสามัคคี ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความประหยัด รู้จักใช้สอยสิ่งต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ความตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความกตัญญูกตเวที 

    พื้นที่ส่วนใหญ่ของสวนร่มเย็ญ คือพื้นที่สีเขียว ที่ปลูกพันธุ์ไม้ไว้หลายร้อยชนิด ทั้งไม้ใช้ ไม้ให้ร่มเงา ไม้ดอก ไม้ผล ไม้ประดับ เฉพาะกล้วยก็มีมากกว่า 10 สายพันธุ์ มีการทยอยจัดทำป้ายข้อมูลติดตามต้นไม้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับต้นไม้ 

    พื้นที่ส่วนกลางออกแบบให้เปิดโล่ง แสงสว่างเข้าถึง ลมพัดผ่านได้สะดวก ใช้พลังงานจากแดดลมให้มากที่สุด และใช้พลังงานไฟฟ้าให้น้อยที่สุด 

    หอธมฺมธุโร เป็นเพียงศาลาเดียวที่ใช้ไฟหลวง 100 เปอร์เซ็นต์ หอฉันใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก ห้องน้ำสาธารณะ ที่พักอาศัย และแสงสว่างตามทางเดินเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เพียงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมนิสัยใช้พลังงานเท่าที่จำเป็นไปในตัวด้วย 

    นอกจากน้ำและแสงแดดแล้ว ดินที่มีโครงสร้างที่ดี และอุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหาร ถือเป็นหัวใจของการเพาะปลูก จึงเป็นที่มาของ ‘บ้านช่าง’ พื้นที่ที่เรานำองค์ความรู้ด้านจุลินทรีย์ต่างๆ จากการศึกษาทางอินเทอร์เน็ต มาลงมือปฏิบัติจริง เศษใบไม้กิ่งไม้ใบหญ้า วัชพืช สมุนไพรที่เพาะปลูกไว้ และขยะต่างๆ ถูกนำมาเข้ากระบวนการให้กลายเป็นสารพัดสิ่งจำเป็น ตั้งแต่ดินปุ๋ยที่อุดมด้วยธาตุอาหาร น้ำปรับโครงสร้างดิน น้ำบำรุง/แก้ปัญหาโรคราก สารสมุนไพรควบคุมศัตรูพืช เป็นต้น


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -