หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 50 วันที่ 4 มิถุนายน 2557

หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 50 วันที่ 4 มิถุนายน 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 50 วันที่ 4 มิถุนายน 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ชุดที่ 3 (ลำดับที่ 41-60)
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ลำดับที่ 50
วันที่ 4 มิถุนายน 2557


เจริญธรรมญาติโยมทุกคนทุกท่าน ขอให้ญาติโยมจงเจริญสติ ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาเราได้สำรวจกายของเราแล้วหรือยัง เราได้สำรวจใจของเราแล้วหรือยัง เราได้สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่องกันแล้วหรือยัง แล้วก็พยายามทำให้ได้ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ถ้าเราไม่ได้สร้างความรู้ตัว เราก็จะไม่ได้รู้เท่าทันใจ ไม่ได้รอบรู้ในจิตวิญญาณของตัวเราเอง ไม่ได้รอบรู้ในกองสังขาร เพียงแค่การสร้างให้มีให้เกิดขึ้น พวกเราก็ยังทำกระท่อนกระแท่น


แต่การทำบุญให้ทาน การฝักใฝ่ที่เกิดจากตัวใจนั้นมีกันอยู่ทุกคน ใจยังเกิดอยู่ ความเกิดของใจ ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด ถึงไม่มีกิเลสก็ช่าง เขายังเกิด หลงเกิด เราต้องพยายามจำแนกแจกแจงสร้างสติให้ต่อเนื่องขึ้นมาส่วนนึง เข้าไปอบรมใจของเราอยู่ตลอดเวลา เข้าไปสังเกต เข้าไปวิเคราะห์จนกว่าใจของเราจะคลายออกจากขันธ์ห้า หรือว่าคลายออกจากความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจคิดนั่นแหละ ถึงเรียกว่า ‘แยกรูปแยกนาม’


ถ้าเราสังเกตทัน เขาก็จะแยกของเขา เขาก็จะพลิก แต่ก่อนเขาคว่ำอยู่ เขาหงาย เขาพลิก เขาหงาย เขาแยกออกมา ใจก็ว่าง กายก็เบา เราก็จะเข้าใจความหมายของคำว่า ‘อัตตา’ กับ ‘อนัตตา’ ถ้าเรามีสติรู้เท่าทัน เห็นการเกิดการดับของความคิด ใจว่างรับรู้อยู่ ตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ ก็เรียกว่าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้าเป็นเรื่องอะไร รู้ เห็น ตามทำความเข้าใจ ทุกเรื่อง ตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ ซึ่งเป็นส่วนนามธรรม ส่วนกาย ส่วนรูปธรรมนี้ก็ตั้งเอาไว้อีกส่วน ที่เรามองเห็นด้วยตาเนื้อ แต่ตัวใจ อาการของใจเราต้องแจงให้ชัดเจน


สติความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมานี้อยู่ส่วนสมองส่วนบน ความรู้สึกรับรู้อันนี้ส่วนนึงชัดเจน ใจชัดเจน อาการของใจชัดเจน ตามทำความเข้าใจ เราก็จะเข้าใจความหมายของสมมติ วิมุตติ เข้าใจภาษาธรรม ภาษาโลก คำว่า ‘ปกติ’ เป็นอย่างไร คำว่า ‘ศีล’ เป็นอย่างไร คำว่า ‘สมาธิ’ ความหมายของ ‘ศีล’ ‘สมาธิ’ ความหมายของ ‘ปัญญา’ เป็นอย่างไร


แต่ละวันตื่นขึ้นมา เรามีความรับผิดชอบ เรามีความขยันหมั่นเพียร เรามีความเสียสละ เรามีความสุข ใจของเรามีความสุขหรือไม่ ต้องรีบสร้าง รีบทำ รีบแก้ไขตัวเราเองอยู่ตลอดเวลา เพราะว่ากายของเรานี่แหละก้อนบุญ กายของเรานี่แหละก้อนธรรม ใจของเราองค์ธรรม ทำไมเขาถึงมาหลง มารวมกัน แล้วเป็นสิ่งเดียวกันแนบแน่น เราต้องแจงให้ออก เหมือนกับเชือกมีอยู่ห้าเกลียว แต่เป็นเส้นเดียว เกลียวไหนเป็นเกลียวไหน แต่เขาอาศัยกันอยู่ ขันธ์ห้าก็เหมือนกัน มีวิญญาณ มาอาศัยอยู่ในกายนี้แหละ วิธีไหน แนวทางอย่างไร เราถึงจะเข้าถึง เราก็ต้องพยายาม


การเจริญสติรู้ตัวอยู่ปัจจุบันเป็นอย่างนี้ รู้ตัวที่ต่อเนื่องกันเป็นอย่างนี้ ลักษณะ ‘ใจ’ ใจที่ปราศจากกิเลสเป็นอย่างนี้ ใจที่ไม่เกิดเป็นอย่างนี้ ใจที่คลายออกจากความคิดเป็นอย่างนี้ มีกันทุกคน เว้นเสียแต่ว่าความเพียรของเราจะต่อเนื่อง ขยันหมั่นเพียรหรือไม่ ความรู้ตัวพลั้งเผลอเป็นอย่างไร นิวรณ์เข้าครอบงำเป็นอย่างไร ความอยาก ความทะเยอทะยานอยาก กับความไม่อยากเป็นอย่างไร ความเป็นกลาง ความปกติเป็นอย่างไร เราต้องพยายามรู้ เห็น ทำความเข้าใจ


ทีนี้เราก็ละ พูดง่าย แต่การลงมือ ต้องเป็นคนที่มีความเพียรเป็นเลิศ มีความขยันเป็นเลิศ ความเสียสละเป็นเลิศ แก้ไขตัวเราปรับปรุงตัวเราอยู่ตลอดเวลา บอกเราให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น แก้ไขตัวเรา ไม่ต้องไปทะเยอทะยานอยาก ดับความอยากที่เกิดจากตัววิญญาณ ถ้าเราเข้าใจแล้ว เปลี่ยนจากความอยาก เป็นความต้องการสติปัญญา รู้เหตุรู้ผล แก้ไขด้วยเหตุด้วยผล อยู่ด้วยปัญญา ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ก็ต้องพยายามกัน


ไม่มีมาก ถ้าคนเราเข้าใจ ถ้าคนเราขัดเกลากิเลสออกจากใจของตัวเราเองให้มันหมดจด ขัดเกลาได้บ้างไม่ได้บ้างก็พยายามทำ อย่าไปทิ้ง อย่าไปปล่อยโอกาสทิ้ง เสียดายเวลา ทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออกมีคุณค่ามากมายมหาศาล ความขยันหมั่นเพียร ทั้งภาระหน้าที่การงาน สิ่งต่างๆ ทั้งสมมติ คนเราอาศัยปัจจัยสี่อยู่ เราก็ต้องทำความเข้าใจให้ละเอียดเสีย ก่อนที่จะหมดลมหายใจ ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่ได้ไป


ที่วัดของเราก็พยายาม พากันช่วยกันทำหลายสิ่งหลายอย่าง จากหนักก็เริ่มเป็นเบา จากเบาก็จะเบาขึ้นไปเรื่อยๆ ต่อไปในวันข้างหน้าก็คงจะมีกันแต่ความสุข ใครไปใครมาก็มีความสุข ความสุขในระดับของสมมติ แต่สุขในระดับธรรม ต้องขัดเกลากิเลสออกจากใจของเรา ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้หมดจด นั้นถึงจะได้รับความสุขภายใน ทั้งสุขภายใน ทั้งสุขภายนอก


เอาล่ะวันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจกันเอา


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง