หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 25 วันที่ 18 มีนาคม 2560

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 25 วันที่ 18 มีนาคม 2560
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 25 วันที่ 18 มีนาคม 2560
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2560 ลำดับที่ 25
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 18 มีนาคม 2560

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจนให้ต่อเนื่อง นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย และก็วางใจให้สบาย หยุดความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ เอาไว้ ถึงเราจะหยุดไม่ได้เด็ดขาด ละไม่ได้ก็ขอให้หยุดขณะที่เรากําลังนั่งฟังอยู่นี่แหละ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว อย่าไปบังคับลมหายใจ อย่าไปเพ่งลมหายใจ อย่าไปจดจ่อ

การสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกก็จะเด่นชัด ความรู้สึกรับรู้เวลาลมหายใจเข้า เวลาลมหายใจออก พยายามฝึกให้เกิดความเคยชินตั้งแต่ตื่นขึ้นตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ ในภาษาธรรมท่านเรียกว่ามาสร้างผู้รู้ มาสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง ซึ่งเรียกว่า สัมปชัญญะ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม ลึกลงไปเราก็จะรู้ใจ รู้ความปกติของใจ รู้การเกิดของใจ รู้แล้วก็เห็นลักษณะการเกิดการดับของขันธ์ห้าที่ผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจซึ่งมีอยู่ในกายของทุกคนหมด จะมีมากมีน้อยก็ขึ้นอยู่กับอานิสงส์บุญบารมีของแต่ละบุคคล

บางคนก็ตื่นขึ้นมา ความคิดไม่รู้สักกี่เรื่อง บางทีก็เกิดจากใจ บางทีก็เกิดจากขันธ์ห้า บางทีก็เกิดจากปัญญา ทั้งใจ ทั้งขันธ์ห้า ทั้งปัญญาส่วนสมองรวมกันไปหมดเลยแยกไม่ได้ เราจงมาสร้างผู้รู้หรือว่ามาเจริญสติลงที่กายของเราให้ได้เสียก่อน ลงที่ลมหายใจของเรา สัมผัสของลมหายใจของเรา ซึ่งเรียกว่า สติรู้กาย พยายามฝึกให้เกิดความเคยชินให้ต่อเนื่องให้เข้มแข็ง แล้วก็อบรมใจของเรา เราอบรมใจตั้งแต่ต้นเหตุไม่ได้ เราก็ใช้สมถะเข้าไปดับ ต้องแยกให้รู้ส่วนใจ ส่วนสติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา เราต้องแยกให้รู้ให้ได้เสียก่อน

ถ้ากําลังสติของเรามีมาก เราก็จะเห็นการเกิดของใจการเกิดของขันธ์ห้า จนกว่าใจของเราจะคลายออกจากขันธ์ห้า ซึ่งเรียกว่า แยกรูปแยกนาม นี่แหละที่ท่านเรียกว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นถูก แล้วก็ตามเห็นการเกิดการดับของขันธ์ห้าเรียกว่า เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้าของตัวเรา เดี๋ยวจะเป็นเรื่องอดีต เรื่องอนาคต หรือว่าเป็นกลางๆ เราก็จะเข้าใจในคําสอนของพระพุทธองค์ คําว่าอัตตาเป็นอย่างไร อนัตตาเป็นอย่างไร การเกิดของใจส่งไปภายนอกเป็นกุศลหรือว่าอกุศล มีกิเลสหรือไม่มีกิเลส หรือว่าเป็นกลางๆ

เราพยายามหมั่นทำความเข้าใจบ่อยๆ อยู่คนเดียวเราก็พยายามหัดสังเกตหัดวิเคราะห์ สร้างความขยันหมั่นเพียร สร้างความรับผิดชอบ สร้างความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เห็นแก่กิเลส ไม่เห็นแก่กินแก่นอน ไม่เห็นแก่ความตระหนี่เหนียวแน่น เราพยายามขัดเกลาเอาออก ตราบใดที่ใจไม่มีกิเลสใจก็บริสุทธิ์ ใจที่ไม่เกิดใจก็นิ่ง ใจที่ไม่ได้หลงขันธ์ห้าเขาก็ว่าง ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในสมมติวิมุตติต่างๆ

เราต้องพยายามศึกษาหาความรู้ แสวงหาตัวตนของเรา คือตัวใจ เราเจริญสติเพื่อที่จะอบรมใจ แสวงหาตัวตนที่แท้จริงของใจ การขัดเกลากิเลสออกจากจิตใจของเรา ความหลงนี่หลงมานาน ใจของเรานี่หลงมานาน หลงอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ จนกระทั่งถึงเวลามาอยู่ในภพของมนุษย์ แล้วก็มาสร้างขันธ์ห้าปิดกั้นตัวเองอีก สร้างขันธ์ห้าปิดกั้นตัวเองยังไม่พอ ยังมีความทะเยอทะยานอยากอีก ยังเป็นทาสของกิเลสอีก กิเลสทั้งดีทั้งไม่ดี ใจก็เป็นทาสของกิเลส

บุคคลที่มีบุญมีอานิสงส์ มีสติมีปัญญา จะพยายามเจริญสติเข้าไปอบรมใจ ขี้เหตุขี้ผล เห็นเหตุเห็นผล เห็นการเกิดการดับ การแยกการคลาย การละกิเลสออกจากใจของเรา แล้วก็หมั่นสร้างอานิสงส์สร้างบุญบารมีให้มีให้เกิดขึ้น แต่ละวันตื่นขึ้นมาตั้งแต่เช้า ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ ใจของเราสงบสะอาดบริสุทธิ์หรือเปล่า หรือว่าใจของเราเกิด เกิดเรื่องอะไร ส่งไปภายนอกได้อย่างไร ขันธ์ห้าหรือว่าความคิดที่ไม่ตั้งใจคิดผุดขึ้นมาปรุงแต่งใจของเราได้อย่างไร เราก็จะหัดสังเกตจนกว่าใจจะคลายออก ตามดูตามสติปัญญาที่เราสร้างขึ้นมา ตามดูตามรู้ตามเห็น ใจว่างรับรู้อยู่ภายใน เราก็จะเข้าใจในคําสอนของพระพุทธองค์ ละอกุศลเจริญกุศลให้มีให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มองเห็นโน้นทางเดินว่าเราจะได้กลับมาเกิดหรือไม่กลับมาเกิดกัน ก็ต้องพยายาม

ทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออกมีคุณค่ามากมายมหาศาลเลยทีเดียว ถ้าเรารู้จักประมาณตนรู้จักแก้ไขตน ตนตัวแรกคือตัวสติ หรือว่าความรู้ตัวที่เราสร้างขึ้นมานี่แหละ ตนตัวที่สองก็คือตัวใจ อบรมใจไม่ให้เป็นทาสของกิเลส อบรมใจของเราไม่ให้เกิด ความเกิดนั่นแหละคือความทุกข์ ความเกิด เกิดในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง หรือว่ามีความยินดียินร้ายในสิ่งต่างๆ เรื่องจิตใจเป็นของละเอียด ถ้าเราไม่ศึกษาตัวเรา ไม่มีใครจะฝึกให้เราได้เลย นอกจากตัวเรา

ครูบาอาจารย์ก็เป็นแค่เพียงแผนที่ชี้แนะแนวทางให้ที่จะเข้าถึง เราต้องปฏิบัติ การเจริญสติเป็นอย่างนี้ กายวิเวกเป็นอย่างนี้ สติที่ต่อเนื่องกันเป็นอย่างนี้ การขัดเกลาการละกิเลสเป็นอย่างนี้ เราต้องมีความเพียรในการดูในการรู้ ชี้เหตุชี้ผลอยู่ตลอดเวลา เหตุผลทั้งด้านรูปธรรมก็มี เหตุผลทางนามธรรมก็มี เหตุผลของสมมติ เหตุผลของวิมุตติ มีอยู่ในกายของเราหมด ทั้งหยาบทั้งละเอียด จงเป็นบุคคลที่มีความเพียร ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขตัวเราใหม่ตลอดเวลา อะไรที่จะเป็นบุญ อะไรที่จะเป็นประโยชน์ อะไรที่จะเป็นกุศล ประโยชน์ใกล้ประโยชน์ไกล ประโยชน์สมมติประโยชน์วิมุตติ ก็ให้พากันรีบทำขณะที่เรายังมีกําลังยังมีลมหายใจอยู่ ถ้าหมดลมหายใจแล้วก็เป็นเรื่องของกรรม เรื่องของบุญของบาป ละอกุศลเจริญกุศลให้มีให้เกิด สูงขึ้นไปก็วางหมด

ใจของเราก็จะอยู่กับบุญนั่นแหละ ใจตัวใจนั่นแหละคือตัวบุญ ไม่ต้องไปหาบุญที่ไหนยากเลย หาลงที่ใจของเราลงที่กายของเรา ส่วนการสร้างอานิสงส์สร้างบุญบารมี การทำบุญให้ทาน อันนั้นมีกันเต็มเปี่ยมกันทุกคน ฝักใฝ่กันทุกคน สนใจฝักใฝ่มาตั้งแต่พ่อแม่ปู่ย่าตายาย แต่การเดินปัญญา การเจริญสติที่จะเข้าไปสํารวจ เข้าไปดู เข้าไปรู้ เข้าไปเห็นใจของเรา นี่ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียรเป็นเลิศ แล้วก็สร้างอานิสงส์เป็นเลิศ ขัดเกลากิเลสออกจากใจของเราให้หมดจด สักวันหนึ่งเราก็คงจะถึงจุดหมายปลายทางกัน ไม่ถึงช้าก็ต้องถึงเร็ว ไม่ถึงวันนี้ ก็ต้องถึงพรุ่งนี้ ไม่ถึงพรุ่งนี้ มะรืนนี้ เดือนหน้า ปีหน้า ไม่ถึงจริงๆ ในสิ่งที่พวกเราทำก็จะไปต่อเอาภพหน้า

พยายามอย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง เสียดายเวลา เวลาทุกขณะจิตทุกขณะลมหายใจเข้าออก ตราบใดที่กำลังสติของเรามีไม่ต่อเนื่อง แยกแยะไม่ได้ กำลังสติก็จะไม่ตามดูตามรู้ตามเห็น ถ้าแยกแยะได้ สังเกตเห็นจนใจคลายออกจากขันธ์ห้าได้ กําลังสติจะพุ่งแรงตามดูเห็นความเกิดความดับว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้าเป็นอย่างไร อัตตา อนัตตาเป็นอย่างไร หลักของความจริงอันประเสริฐสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ การดับทุกข์ การละทุกข์ การเข้าถึงความหมายนั้นๆ เป็นอย่างไร กําลังสติของเราถึงจะพุ่งแรง ถ้าความรู้ตัวพลั้งเผลอก็เริ่มใหม่ ความรู้ตัวพลั้งเผลอจะเริ่มใหม่ ส่วนมากจะลืม หรือไม่สนใจเลย จะเอากันแต่ปัญญาไปพิจารณาซึ่งเป็นปัญญาของโลกีย์

ในหลักธรรมท่านให้เจริญสติเข้าไปอบรมใจแยกแยะจนใจคลายออกจากขันธ์ห้า ตามดู ตามรู้ ตามเห็นความเป็นจริง ทุกอย่างท่านถึงบอกให้เชื่อ แยกได้ทำความเข้าใจได้ ละได้ออกจากใจของเรา ให้รู้ด้วยตนเอง ท่านถึงบอกให้เชื่อ เอาความเป็นกลาง ความว่างเป็นเครื่องตัดสิน เวลาที่ยังเหลืออยู่เราก็สนุกสร้างบุญสร้างกุศล ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ประโยชน์สมมติประโยชน์วิมุตติ ก็ต้องพยายามกันนะ

ไม่ว่าบุญเล็กบุญน้อย ไม่ว่าอยู่ที่ไหนโอกาสเปิดกาลเวลาเปิด พวกเราก็ให้รีบทำ ตื่นขึ้นมาก็ให้รีบดูใจก่อน รู้ใจแก้ไขใจ ปรับปรุงตัวของเรา จากภายในส่งไปถึงภายนอก จากข้างนอกส่งถึงข้างใน ประโยชน์ใกล้ประโยชน์ไกล ประโยชน์มากประโยชน์น้อย ก็อย่าพากันปล่อยวันเวลาทิ้ง ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ ก็ต้องพยายามกันนะ

เอาล่ะวันนี้ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปสร้างสานต่อ ทำความเข้าใจกันเอา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง