หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 48 วันที่ 17 กรกฏาคม 2561

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 48 วันที่ 17 กรกฏาคม 2561
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนา พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 48 วันที่ 17 กรกฏาคม 2561
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2561 ลำดับที่ 48
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2561

ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย แล้วก็วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย หลวงพ่อก็เพียงแค่บอก แค่กล่าววิธีการ แนวทางของการเจริญสติ คําว่าสติระลึกรู้กาย รู้ลมหายใจเข้าออก อันนี้เขาเรียกว่า รู้กาย ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆ แล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ สัก 2-3 เที่ยว กายก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะ ใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น ความรู้สึกสัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเรา

เราพยายามหัด หัดสร้างความรู้ตัวตรงนี้แหละ ตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ได้ลุกจากที่ พอรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก รู้ให้ต่อเนื่อง ภาษาธรรมท่านเรียกว่า สัมปชัญญะ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม อันนี้เพียงแค่การเจริญสติ ให้มีให้เกิดขึ้น จนความรู้ตัวของเราต่อเนื่อง เราก็จะรู้ว่าแต่ก่อนความรู้ตัวตรงนี้ไม่ค่อยมีเลย ส่วนการเกิดการดับของใจนั้นมีอยู่เดิม การเกิดการดับของขันธ์ห้านั้นมีอยู่ในกายของเรา ถ้าเรามาสร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง บางครั้งบางคราวใจก็คิดไปโน้นบ้างไปคิดไปนี่บ้าง เรารู้ไม่ทัน เราก็กระตุ้นความรู้สึกอยู่ที่การหายใจ ใจก็จะกลับมาอยู่กับลมหายใจของเรา ฝึกไปฝึกมา เราก็จะเข้าใจ หายใจหยาบหายใจละเอียดเป็นอย่างนี้ อานาปานสติเป็นอย่างนี้ อย่าไปรีบร้อน ฟังไปด้วย น้อมทำความเข้าใจไปด้วย

เรารู้จักวิธีการ รู้จักแนวทางแล้ว พยายามไปทำ ถ้าความรู้ตัวของเราต่อเนื่อง เราก็จะเห็น เห็นการเกิดของใจตั้งแต่ก่อตัว เห็นการเกิดของขันธ์ห้าตั้งแต่ก่อตัว ใจจะเคลื่อนเข้าไปรวมกับขันธ์ห้า ถ้าเรามีความรู้ตัวอยู่ขณะนั้น เราก็จะเห็น ใจก็จะดีดออกจากขันธ์ห้าหงายขึ้น เขาเรียกว่า แยกรูปแยกนาม ความรู้ตัวของเราก็จะตามดูการเกิดการดับของขันธ์ห้า ซึ่งเรียกว่า เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใจของเราก็ว่างรับรู้อยู่ เห็นความเกิดความดับ เขาเรียกว่า เวลาความคิดดับจบลงไป อนัตตาความว่างเปล่าก็เข้ามาปรากฏ เรื่องใหม่ก็เกิดขึ้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

ท่านถึงบอกว่าเป็นแค่เพียงอาการ เป็นแค่เพียงมายา ใจของเราเข้าไปรวมก็เลยทำให้เกิดอัตตาตัวตน กายก็เลยหนัก ใจก็เลยหนัก การเกิดของใจนั่นแหละเขาเรียกว่า อัตตาเกิด ทั้งไปรวมกับขันธ์ห้าอีกก็เลยหลง หลงเกิด หลงขันธ์ห้าแล้วก็ไปหลงทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเราคลายใจออกจากขันธ์ห้า ใจของเราก็ละความหลง ทีนี้เราก็ตามทำความเข้าใจ เราละขันธ์ห้าซึ่งเป็นฝ่ายนามธรรม ถ้ารู้ความจริงแล้ว ว่าไม่มีสาระประโยชน์อะไรแล้วก็ค่อยละ ใจจะเกิดกิเลส เราก็จะเจริญสติเข้าไปดับเข้าไปหยุด ใจจะส่งไปภายนอกเราก็รู้จักดับรู้จักหยุด หนุนกําลังสติปัญญาไปทำหน้าที่แทน สติปัญญาของเราตามดู รู้เห็นเหตุเห็นผลชี้เหตุชี้ผล ทุกเรื่อง จนใจมองเห็นความเป็นจริง การเกิดเป็นทุกข์เขาก็ไม่เกิด เป็นทาสกิเลสเขาก็ไม่เอา

แต่เวลานี้ ทั้งความโลภ ความโกรธ ทั้งกิเลสหยาบกิเลสละเอียด ทั้งนิวรณ์ ทั้งมลทิน อัดแน่นอยู่เต็มใจของเรา ท่านถึงให้เจริญสติเข้าไปแยกเข้าไปคลาย เข้าไปชี้เหตุชี้ผล หมั่นเกลาเอาออกทีละเล็กละน้อยจนกว่าใจของเราจะไม่มีกิเลส จนเหลือตั้งแต่ความบริสุทธิ์ แม้แต่ความเกิดของใจเราก็พยายามรีบดับ เป็นเรื่องของเรา มีตั้งแต่เรื่องของเรานะ หน้าที่ของเราที่จะต้องแก้ไขตรงนี้ ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น เราอย่าปล่อยใจของเราไปตามอำนาจของกิเลส ความเกิดนั่นแหละคือกิเลสอันละเอียดที่สุด ถ้าไม่หลงก็ไม่เกิด กิเลส ความโลภ ความโกรธ ความทะเยอทะยานอยาก สารพัดอย่างก็จะตามมาเป็นขบวน

ถ้าเราหมั่นให้ทาน ทำบุญ เจริญพรหมวิหารเข้าไปแก้ไขให้ใจของเราเบาบางจากกิเลส ปฏิบัติคร่ำเคร่งมากมายถึงขนาดไหนก็เพื่อที่จะละกิเลส ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ให้เป็นแค่เพียงอิริยาบถ เราเข้าใจวิธีการเจริญสติ ทำให้ต่อเนื่อง เพื่อที่จะเอาไปอบรมใจของเราให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น อยู่ที่ไหนเราก็จะมองเห็น มองเห็นใจตัวเรา แก้ไขใจของเราได้ทุกอิริยาบถ ก็ต้องพยายามกัน

สร้างความรู้ตัวให้ชัดเจนให้ต่อเนื่องกันสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำ ทำใจให้โล่ง สมองให้โปร่ง มีความรู้สึกรับรู้อยู่ที่ปลายจมูกของเราให้ชัดเจนกัน

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปทำความเข้าใจต่อให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง