หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 21 วันที่ 22 มีนาคม 2563

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 21 วันที่ 22 มีนาคม 2563
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 21 วันที่ 22 มีนาคม 2563
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2563 ลำดับที่ 21
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 20 มกราคม 2563

มีความสุขกันทุกคน แต่ละวันตื่นขึ้นมาใจของเรามีความปกติหรือไม่ ใจของเรามีความอ่อนโยนอ่อนน้อม มีความเสียสละ มีความละความเห็นแก่ตัว แก่ความเกียจคร้าน ละความตระหนี่เหนียวแน่น ละความอิจฉาริษยา ละการพูดจาเพ้อเจ้อ พูดจาส่อเสียด พูดสิ่งที่ไร้สาระ พูดเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งไหนไม่เป็นประโยชน์เราก็ไม่พูด เพียงแค่กายกับวาจาก็ยังรักษายากอยู่ ส่วนที่จะรักษาใจนั้นก็ยิ่งยากเข้าไปอีก

ถ้าเราไม่สร้างตบะบารมีให้เป็นเลิศจริงๆ แต่ละวันๆๆ ใจของคนเรานี่สอนได้ ไม่ใช่ว่าสอนไม่ได้กิเลสมารเขาก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เขาก็เอาสิ่งดีๆ นั่นแหละมาหลอก อยากได้บุญ ได้กุศล อยากได้ธรรม ความอยากนั่นแหละคือความเกิด คือความกิเลสละเอียดที่สุดที่ปิดกั้นใจเอาไว้

ความเกิด ถ้าไม่เกิด ถ้าไม่หลง ก็ไม่เกิด หลงหลายชั้น หลงตั้งแต่ยังไม่ได้มาเกิด หลงวนเวียนว่ายตายเกิด แล้วก็หลงมาเกิด มาสร้างขันธ์ห้า มาสร้างภพมนุษย์ปิดกั้นตัวใจตัวเองเอาไว้ แล้วก็มายึดติดขันธ์ห้าอีก
พระพุทธองค์ท่านถึงให้เจริญสติลงที่กายลงที่ขันธ์ห้า ทำความเข้าใจที่ว่าเป็นกองเป็นขันธ์ได้อย่างไร เราก็ดับจุดต้นเหตุคือความเกิด ขณะที่ยังอยู่ในกายของเรา ส่วนอื่นอย่าพึ่งไปพูดถึงเอาวิญญาณในกายของเราให้ได้ แก้ไขเราให้ได้ ขณะที่ยังมีภพมนุษย์

ภพมนุษย์เป็นภพที่บรรลุถึงเป้าหมายปลายทางได้เร็วได้ไว ก็เป็นภพที่มาทำความเข้าใจให้ถึงธรรมชาติให้เร็วให้ไว ภพอื่นก็เป็นภพที่ไปเสวยวิบากของกรรม ภพนรกก็เป็นวิบากของกรรมที่ทนทุกข์ทรมาน ภพสวรรค์ก็เป็นภพที่มีความสุขเสวยสุข ภพที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แล้วก็สวรรค์มีหลายชั้น แล้วก็ภพนิพพาน นิพพานคือไม่ต้องกลับมาเกิด เราพยายามเดินให้ถึง ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

ปัญญาพระพุทธองค์ค้นพบเอามาเปิดเผย จำแนกแจกแจง สัมมาทิฐิ ความเห็นถูกเป็นอย่างนี้แล้วก็การสร้างบารมีเป็นอย่างนี้ ตั้งแต่ศรัทธา ความเชื่อ การให้ทาน ความเสียสละ ความอดทนอดกลั้น ตบะบารมี กายของเรานี่เป็นสนามรบอันยิ่งใหญ่ ไม่ต้องไปรบอะไร รบที่กายของเรา รบชนะภายใน แล้วก็บริหารสมมติ อยู่กับสมมติ เคารพสมมติจนกว่าจะหมดลมหายใจ

ถ้าเราไม่เห็นต้นเหตุ บางคนก็เบาบางมาแล้ว เบาบางจากกิเลส แต่ใจยังเกิดยังแสวงหาอยู่ความเกิด ความแสวงหา นั่นแหละเขาก็ปิดกั้นตัวเขาเอาไว้อีก เราก็มาดับความเกิด หนุนกำลังสติปัญญาไปอบรมใจไปใช้

ที่ท่านบอกว่า ‘ตนเป็นที่พึ่งของตน’ ตนคือสติตัวแรกที่เราสร้างขึ้นมา เป็นที่พึ่งของใจ ใจก็ไปอาศัยกาย แต่ให้เรารู้ด้วยปัญญา กายของเราก็ยังอาศัยปัจจัยสี่ อาศัยปัจจัยสี่บริหารให้อยู่รอดอาศัยคำข้าว อาศัยอาหาร เราต้องพิจารณาให้ลึกๆ ไม่ใช่ว่าใจส่งออกไปพิจารณา ใจส่งออกไปพิจารณานั้นคือความเกิดปิดกั้นตัวเขาเอาไว้

ใจนี่ก็แปลก เราดับบ่อยๆ ดับบ่อยๆ เพียงแค่ดับนี้ เพียงแค่หินทับหญ้านะ เราดับแล้วเราก็พยายาม ละกิเลส เจริญสติเราต้องเอาสติปัญญาไปใช้นั่นแหละ มีหลายขั้น หลายชั้น หลายตอนถ้าบุคคลที่ รู้ด้วย เห็นด้วย เข้าถึงด้วย มองเห็นทางด้วย ถึงจะง่าย ช่วงใหม่ๆ กิเลสมันเล่นงานเรา ไม่อยากจะให้เข้าถึง ตัวใจ เขาก็ไม่อยากจะให้เข้าถึง เพราะว่าอะไร เขาเกิดมานาน เขาหลงมานาน เขาเป็นเพื่อนเก่ากับขันธ์ห้ามานาน เขาเป็นทาสกิเลสมานาน เราจะมาสะสางแค่วันหนึ่งสองวัน เป็นไปไม่ได้ เราก็ค่อยสะสมบุญบารมีไปเรื่อยๆ ค่อยขัดเกลากิเลสไปเรื่อยๆ มันก็จะเบาบางไปเรื่อยๆ ไม่หลุดพ้นวันนี้ วันพรุ่งนี้ เดือนนี้ เดือนหน้า ไม่หลุดพ้นจริงๆ ก็ไปต่อเอาภพหน้า

อย่าไปโทษคนโน้น อย่าไปโทษคนนี้ เราจงโทษตัวเรา แก้ไขตัวเรา ทุกคนก็ปรารถนาหาทางดับทุกข์ ทุกคนก็ปรารถนาหาทางให้ถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น บางคนก็เดินไขว้เขว้ไป บางคนก็เดินตรง บางคนก็เดินช้า บางคนก็เดินเร็ว แล้วแต่อานิสงส์บุญบารมีของแต่ละบุคคล

ไม่ใช่ว่าจะทำปุ๊บมันได้ปุ๊บ มันได้ปุ๊บปั๊บๆ ไม่ได้หรอก เราดำเนินให้ถูก ที่ถูกทาง ยิ่งเจริญสติ ยิ่งแยกแยะ ยิ่งเห็นเยอะ ยิ่งเห็นเยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งทำความเข้าใจ

อยู่คนเดียวเราก็ดูเรา อยู่หลายคนเราก็ดูเรา กายวิเวกเป็นอย่างไร ใจวิเวกเป็นอย่างไร กายวิเวกจากพันธะภาระ จากสมมติ เราก็มาทำความเข้าใจกับสมมติ กายของเรานี่แหละคือก้อนสมมติ ไม่ได้เป็นสมมติอันอื่น เราก็มาดูกายของเรา แก้ไขกายของเรา

ใจของเรากายของเราทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร วิญญาณในกายทำหน้าที่อย่างไร สติปัญญาต้อง ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล กิเลสหยาบ กิเลสละเอียดมีหมด

ในกายของเราเป็นรังแห่งโรค เดี๋ยวก็เป็นโรคโน้น เดี๋ยวก็เป็นโรคนี้ เดี๋ยวก็ต้องได้พลัดพรากจากกัน ไม่ได้พลัดพรากจากกันตอนเป็น ก็ต้องได้พลัดพรากจากกันตอนตาย เพราะเป็นกฎของไตรลักษณ์ เป็นรังแห่งโรค เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวก็ร้อน ตอนนี้ไข้หวัดโควิดกำลังระบาดไปทั่วโลก ต้องคอยระวัง คอยดูแลรักษา ถ้าเราไม่ดูแลรักษาตัวเรา บางทีก็อาจจะติดเชื้อได้เร็วได้ไว เพราะว่าไปได้เร็วได้ไว ไปทั่วโลก

ถ้าไม่มีวิบากกรรมต่อกันก็ไม่เป็นไร หันหลังให้กันอยู่ก็ไม่เป็นไร ถ้ามีวิบากกรรมต่อกัน อยู่ที่ไหนก็ต้องได้เจอกัน เพราะกายของเรานี้มันเป็นแหล่งเพาะเชื้อ ไม่ใช่ว่าจะมีแต่วิญญาณของเรา ในกายของเราเชื้อโรคเต็มไปหมด ในร่างกายของเราเป็นจุลินทรีย์ ทั้งฝ่ายดี ทั้งฝ่ายไม่ดี สารพัดอย่าง เราก็ต้องช่วยกันดูแล แก้ไข จนกว่าเขาจะถึงวาระของเขา

หมดลมหายใจก็จะเหลือแต่เรื่องบุญเรื่องบาป ตราบใดที่ใจยังไม่เหนือบุญ เหนือบาป ก็ต้องสร้างบุญ ละอกุศล ละบาป สร้างบุญ ไม่ยึดติดในทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งใจจะเกิด ยังยึด ก็ขอให้ยึดอยู่ในฝ่ายกุศลเอาไว้ ถึงจะไม่ได้ลำบากในวันข้างหน้า ถึงจะไปสู่ความสงบ ความสุข แต่ก็เป็นสุขที่ไม่ได้ลำบากใจ ไม่ได้ทุกข์ใจ แล้วก็ดำเนินสานต่อจนกว่าจะถึงนิพพาน ไม่ต้องกลับมาเกิด เราต้องรู้เรื่องของนิพพานขณะที่ยังมีลมหายใจ ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

ใจของเราเป็นอย่างไร อนาคตก็เป็นอย่างนั้นแหละ ใจของเราบริสุทธิ์ เราละกิเลสได้ เราไม่อยากจะได้รับความบริสุทธิ์ เราก็ได้
ใจของเราสงบ ไม่อยากจะให้ใจของเราเที่ยง ใจของเราก็เที่ยง ต้องแก้ไขเรา ปรับปรุงตัวเราไม่ใช่ไปโทษคนโน้น ไปโทษคนนี้ คนนี้เป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่ได้พูดเรื่องของคนอื่นแล้วใจมันไม่โล่ง ถ้าได้พูดเรื่องของคนอื่นแล้ว เหมือนกับได้กินยาระบายท้อง

ก็คอยดูเรา แก้ไขเรา ปรับปรุงตัวเรา ยิ่งพวกพระพวกชี ยิ่งชีผู้หญิงนี่ อยู่คนเดียว สองคน ก็พูดถึงแต่เรื่องคนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นก็เป็นอย่างนี้ บางทีก็ไปอ้างว่า หลวงพ่อว่างั้น หลวงพ่อว่าอย่างงั้น บางทีหลวงพ่อไม่เคยพูดสักที ไม่เคยได้พูดสักที ก็ไปบอกไปนั่น

ก็ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็รู้จักแก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา ปรับปรุงตัวเราให้ดี ทำหน้าที่ของเราให้ดีเอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจเราไปใส่ใจเขา รู้จักช่วยเหลืออนุเคราะห์ รู้จักให้อภัย อโหสิกรรมละความเห็นแก่ตัวออกจากใจของตัวเรา สร้างความขยันหมั่นเพียร ให้มีให้เกิดขึ้น ไม่ต้องไปกังวลว่าจะเสียเปรียบกิเลสคนโน้น เสียเปรียบกิเลสคนนี้ เราชนะตัวเรา แล้วเราชนะหมด

เราเป็นผู้ให้ผู้อนุเคราะห์ผู้ช่วยเหลือ เราก็จะไปถึงฝั่งได้เร็วได้ไว ไม่ใช่ว่าจะเอาตั้งแต่ความตระหนี่เหนียวแน่น ความเห็นแก่ตัว วาจาก็ไม่รู้จักรักษา กายก็ไม่รู้จักรักษา ยิ่งใจมันก็ยิ่งจะรักษาได้ยากอีก ก็ต้องพยายามกันนะ

ตั้งใจรับพรกัน


ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ต่อเนื่องให้ชัดเจน นั่งตามสบาย วางกายให้สบาย แล้วก็วางใจให้สบายไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วย น้อมสำเหนียก ดู รู้กายของตัวเรา ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ลึกๆแล้วก็ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ อย่าบังคับลมหายใจนะ หายใจให้เป็นธรรมชาติที่สุด การสูดลมหายใจยาวๆ กายของเราก็รู้สึกว่าสบายขึ้นเยอะใจของเราก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น

ความรู้สึกพลั้งเผลอเราก็เริ่มขึ้นมาใหม่ เพียงแค่สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง ให้เกิดความเคยชินตั้งแต่ตื่นขึ้น เพียงแค่เรื่องการหายใจเข้า หายใจออกเรา ก็ขาดการรู้ รู้เท่า รู้ทัน ลึกลงไปเราจะไปรู้ลักษณะของใจได้อย่างไร รู้ลักษณะของขันธ์ห้า ของความคิดได้อย่างไร

เพียงแค่ผู้รู้หรือว่า ‘สติ’ เราก็ยังไม่รู้จักสร้างขึ้นมา เราอาจจะสร้างขึ้นมาได้นิดๆ หน่อยๆ ก็ปล่อยปละละเลย ถึงเราพยายามสร้างขึ้นมาแล้ว รู้จักเอาไปใช้ ใจส่งออกไปภายนอก เราก็รู้จักควบคุมตั้งสติ ความรู้สึกขึ้นมาใหม่ ใจก็จะกลับมาอยู่กับลมหายใจ ไม่ใช่ว่าเอาใจไปกำหนด ถ้าเอาใจไปกำหนด ถึงใจจะปกติ ใจจะสงบ มันก็ปิดกั้นตัวเขาเอาไว้เหมือนเดิม เราพยายามสร้างความรู้ตัวขึ้นมา แล้วใจก็จะกลับมาอยู่กับลมหายใจ หรือว่าอยู่กับการเดิน แล้วแต่อุบาย

เพียงแค่สร้างความรู้ตัวให้ต่อเนื่อง ให้รู้เท่า รู้ทัน ตามทำความเข้าใจ จนใจคลายออกจากขันธ์ห้าได้เมื่อไหร่ นั่นแหละ ถึงจะเดินปัญญาได้ ถึงใจคลายออกจากขันธ์ห้าได้
ถ้ากำลังสติของเราไม่ตามดู ตามรู้ ตามเห็น เขาก็จะซึมเข้าสู่สภาพเดิม

เราต้องตามดูทุกกระเบียดนิ้ว จนกำลังสติของเราเป็นมหาสติ จากมหาสติกลายเป็นมหาปัญญาจนกลายเป็นปัญญารอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในดวงวิญญาณ ขัดเกลากิเลสออกจากใจของเรา

จงเป็นบุคคลที่ขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ ส่วนตบะบารมีของทุกคนนั้นมีอยู่ ความขยันหมั่นเพียรในระดับของโลกียะ ของสมมติ ตั้งแต่ตื่น ตั้งแต่เกิด ตั้งแต่เกิดก็พัฒนามาเรื่อยๆ ทางด้านร่างกายก็ได้รับการศึกษา ได้รับการเล่าเรียน ผ่านกาล ผ่านเวลา ผ่านทุกข์ ผ่านร้อน ผ่านหนาว จนยังสมมติให้สมบูรณ์แบบ

บางคนสมมติก็ยังลำบากอยู่ก็ต้องแก้ไข
แก้ไข อย่าไปท้อถอย ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขใหม่ ไปฝึกหัดปฏิบัติที่ใด ถ้าเราไม่มีมีสติปัญญาเข้าไปวิเคราะห์ ชี้เหตุชี้ผล ก็ได้ปฏิบัติอยู่ที่กายอย่างเดียว ถ้าเราเข้าใจแล้ว ยืน เดิน นั่งนอน ก็จะเป็นแค่เพียงอิริยาบถ

เราต้องรู้ฐานของใจเขาอยู่ตรงไหน ความโล่ง ความโปร่ง ความเกิด เขาเริ่มก่อตัวตรงไหน ขันธ์ห้าเริ่มก่อตัวตรงไหน ใจคลายออกได้อย่างไร ถ้าเราสังเกตทันเขาก็จะคลายออกเอง เราก็จะเข้าใจคำว่า ‘กอง’ คำว่า ‘ขันธ์’ กองอดีต กองอนาคต กองสังขาร กองวิญญาณ กองกุศล กองอกุศล ที่พระพุทธองค์ท่านบอกว่า เป็นกอง เป็นขันธ์ ถ้าใจคลายออกก็ สัมมาทิฐิ ความเห็นถูกเห็นถูก แล้วก็ตามทำความเข้าใจ

บารมีของเรามีอะไรบ้าง ความขยันหมั่นเพียรมีไหม ความรับผิดชอบมีไหม ความเสียสละ เรามีสัจจะกับตัวเองหรือเปล่า หรือว่าเรามีความเห็นแก่ตัว

กาย เรารักษากายปกตินั่นแหละก็คือศีล วาจาปกตินั่นแหละก็คือศีล ใจปกตินั่นแหละคือศีล เราทำความเข้าใจ ทำความเข้าใจศีลสมมติ ศีลวิมุตติ ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ศีลวิมุตติ เราก็ต้องศึกษา ศีลโลก ศีลธรรม ศีลสังคม ศีลสมมติ เราอยู่กับสมมติ เราอยู่กับโลก เราก็ต้องศึกษาให้ละเอียด

ก่อนที่ธาตุขันธ์จะแตกดับ หมดลมหายใจก็มีแต่เรื่องบุญเรื่องบาป ถ้าเราไม่แก้ไขตัวเรา ไม่มีใครจะแก้ไขให้เราได้เลย ถึงจะจับชายจีวรพระพุทธองค์อยู่ ถ้าไม่ขัดเกลากิเลส ไม่ทำความเข้าใจ ก็ยากที่จะเข้าถึงท่าน ท่านถึงบอกว่าใครเห็นธรรมคนนั้นเห็นเรา ใครเห็นเราคนนั้นเห็นธรรม พระพุทธองค์ก็จะอยู่ทุกทีนั่นแหละคือ ‘พุทธะ’ ก็คือผู้รู้ เรามาสร้าง ‘ผู้รู้’ อยู่ที่ใจของเรา มาเจริญสติเข้าไปอบรมใจของเรา

เวลานี้ใจของเรา ทั้งหลง ทั้งเกิด ทั้งยึด ทั้งเป็นทาสกิเลส สารพัดอย่าง กิเลสหยาบ กิเลสละเอียดเพียงแค่การเจริญสติก็ยังทำยากลำบาก ก็ต้องพยายามกันนะ พยายามกัน

ไม่ว่าพระ ว่าโยม ว่าชี อีกสักหน่อยก็ได้พลัดพรากจากกัน พวกเรามีบุญถึงได้มาเจอกัน เจอกันแล้วก็พยายามทำความเพียร ทำความเข้าใจกับตัวเรา

อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวก็ให้รู้กายรู้ใจของเรา แก้ไขเราตลอดเวลา สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจให้ชัดเจน

พากันไหว้พระพร้อมๆ กัน พากันไปศึกษาทำความเข้าใจให้รู้ทุกอิริยาบถ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง