หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 33

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 33
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 33
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 33
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 17 เมษายน 2564


มีความสุขกันทุกคน ดูดีๆ นะ พระเรา ชีเรา สามเณรน้อย กะประมาณในการขบฉันของเรา ยิ่งกายก็หิว ใจก็จะเกิดความอยากได้เร็วได้ไว อันโน้นก็อร่อย อันนี้ก็อร่อย เอาน้อยๆ กลัวไม่อิ่มกิเลสมันบอก กิเลสมันบอกว่าเอาเยอะๆ เอาเยอะๆ ว่างั้นน่ะ


ตามองเห็นรูป ตามองเห็นอาหาร ใจก็ปรุงแต่งได้เร็วได้ไว กิเลสมันสั่งงาน มันอยาก เราดับความอยาก ไม่เอาให้มัน ให้มันผ่านเลยไป ผ่านเลยไปแล้ว ใจของเรายังอาลัยอาวรณ์อยู่หรือไม่ เราก็ดูอีก ดับทีนั้นดับทีนี้ แล้วก็เป็นการละกิเลสด้วยการให้ ด้วยการคลาย ด้วยการเอาออก ไม่สนองกิเลส ไม่สนองกิเลสตัณหาให้มัน ทุกเรื่อง


ส่วนมากก็จะไปมองข้าม จะไปฝึกเฉพาะเวลาเดิน เวลานั่ง เราต้องเอารู้ตั้งแต่ตื่นขึ้น ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ รู้กายปุ๊บ ตื่นขึ้นยังไม่ลุกจากที่ รู้ลมหายใจปั๊บ รู้กายรู้ใจ จะลุก จะก้าว จะเดิน จะเข้าห้องส้วมห้องน้ำ ให้รู้ว่าใจปกติ ทำกับข้าวกับปลา ก็ไม่ให้ใจเกิดความอยาก ให้เป็นเรื่องของสติปัญญาเข้าไปทำหน้าที่แทน จะลุก จะก้าว จะเดิน ขาไหนเดินก่อน ความรู้สึกรับรู้เปลี่ยนอยู่ที่การเดิน หรือว่าอยู่ที่ลมหายใจ พยายามฝึกรู้ลมหายใจให้ชัดเจน ให้ต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่าจะไปปล่อยปละเลย ฝึกปฏิบัติธรรมไม่รู้จักทำ


การบวชก็เหมือนกัน บวช เราบวชกายของเรา แต่ใจของเรายังวิ่งวุ่นอยู่ ยังเป็นทุกข์อยู่ มันก็เหมือนกันกับนกเหมือนกับไก่อยู่ในกรง ถูกครอบเอาไว้ มันวิ่งวนอยู่ เราต้องมาทำความเข้าใจให้มันถูกต้อง บวชทั้งกาย บวชทั้งใจ บวชเพื่อละกิเลส ขัดเกลากิเลส บวชเพื่อที่จะคลายความหลง ละกิเลส


กิเลสก็มีหลายอย่าง กิเลสหยาบ กิเลสละเอียด เราต้องดูรู้ให้ละเอียด รู้จักสำรวมกายของเรา กายของเราก็เป็นปกติ ไม่ได้ไปทำร้ายคนโน้นคนนี้ วาจาของเราก็ไม่ได้พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ นั่นแหละถึงจะเข้าสู่หลักของหมวดของหมู่ของศีล 'ศีล' คือความปกติ ปกติระดับกาย ระดับวาจา แล้วก็ลึกลงไปก็ระดับใจ ใจปกติไม่ได้คิดอคติ คิดส่อเสียด คิดเพ่งโทษคนโน้นคนนี้ กาย วาจาก็เป็นศีล ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10


'สมาธิ' ใจของเราก็สงบ สงบด้วยการข่มเอาไว้ด้วยสมถะภาวนา หรือว่าสงบ รู้ด้วยปัญญา แยกแยะ ชี้เหตุชี้ผล เดินปัญญา แต่ละวันใจของเรามีความแข็งกระด้าง เราก็พยายามละความแข็งกระด้าง ใจของเรามีความตระหนี่เหนียวแน่น เราก็พยายามละความตระหนี่เหนียวแน่น ทำสิ่งตรงกันข้าม ใจของเรามีความอ่อนโยน อ่อนน้อม มีพรหมวิหาร มีความกตัญญู มีความเสียสละ ละความเห็นแก่ตัวหรือไม่ หรือว่ามีแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ สมมติเราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดี


ไม่ใช่ว่าหนักไม่เอาเบาไม่สู้ เอาตั้งแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ช่วยเหลือตัวเองก็ไม่ได้ หนักตัวเอง หนักคนอื่น หนักสถานที่ พึ่งตัวเราก็ไม่ได้ ไปที่ไหนมันก็ลำบาก สมมติเราพออาศัยกันได้ ส่วนการขัดเกลากิเลสนี่มันยาก เราก็ต้องพยายามแก้ไข


การบวชเข้ามาก็ต้องให้รู้จักความหมายของการบวช บวชเพื่ออะไร จุดมุ่งหมายอยู่ที่ไหน บวชเพื่อที่จะมาอบรมใจของเรา แก้ไขใจ แก้ไขทางสมมติ คนทั่วไปสมมติก็แก้ไขไม่ได้ มีตั้งแต่ทับถมดวงใจของตัวเรา จากภายนอกก็หมักหมมมากขึ้นๆ กระทั่งถึงภายใน ก็เป็นสันดอนสันดาน เป็นดินพอกหางหมูขูดเกลาก็ไม่ออก หนักตัวเองหนักคนอื่น


บุคคลที่มีบุญมีวาสนา ฟังนิดเดียว อยู่คนเดียวก็รู้จักแก้ไขตัวเรา อยู่หลายคนก็รู้จักแก้ไขตัวเอง อยากได้มากก็ขยันหมั่นเพียร รู้จักหา รู้จักใช้ รู้จักเก็บ อะไรที่จะเป็นประโยชน์ ประโยชน์มาก ประโยชน์น้อย ประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล ควรจะรู้จักพิจารณา ไม่ใช่ว่าจะเอาตั้งแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ความเกียจคร้านเขาครอบงำครั้งหนึ่ง ครั้งสอง ครั้ง 3 ก็มากขึ้นๆๆ ก็โดนกิเลสเล่นงานอยู่ตลอดเวลา


ความขยัน ถ้าเราสร้างความขยันขึ้น ครั้งหนึ่ง 2 ครั้ง 3 ครั้ง ก็มากขึ้นๆๆ จนเป็นธรรมชาติในการขยันหมั่นเพียร ในการสร้าง ในการทำ เพื่อยังประโยชน์ ประโยชน์ใกล้ ประโยชน์ไกล ประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า เอาโลกปัจจุบันให้ดี ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะดี


พระเราก็เหมือนกัน ถ้าเกียจคร้านแล้วก็ไม่ดี ชีเราก็เหมือนกัน ทั้งฆราวาสญาติโยม ถ้าคนไหนมีความเกียจคร้านเข้าครอบงำแล้วก็ใช้การไม่ได้ สอนตัวเองไม่ได้ จะไปเที่ยวให้คนอื่นเขาสอนก็ไม่เกิดประโยชน์


คำสอนแนวทางนั้น พระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบหลายร้อยหลายพันปี หนทางการปฏิบัติ การเจริญสติ แยกรูปแยกนาม สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก เห็นถูก พูดจาถูก ดำริถูก สมาธิถูก การงานชอบ ดำริชอบ ความประพฤติชอบ ถ้าเห็นถูกตั้งแต่แรก ถ้าเห็นผิดตั้งแต่แรก ฝมันก็ผิด มันอาจจะถูกอยู่ระดับของสมมติ แต่ในหลักธรรมแล้วยังผิดอยู่ เพราะว่าใจมันยังไม่ได้แยก ได้คลาย ได้หงายออกจากขันธ์ 5


ขันธ์ 5 คืออะไรล่ะ คือกายของเรานี่แหละ ที่ท่านเรียกว่า 'ขันธ์ 5' มีกองรูป กองนาม มันเป็นลักษณะอาการอย่างไร หน้าตาอย่างไร เราเจริญสติเข้าไปดู เข้าไปรู้ เข้าไปเห็นจริงๆ ท่านถึงบอกให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อแบบงมงาย มีศรัทธาแล้วก็เจริญสติให้เกิดปัญญา ชี้เหตุชี้ผล ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง อยู่อย่างมีความสุข อยู่ด้วยสติ อยู่ด้วยสติอยู่ด้วยปัญญา ไม่ปล่อยวันเวลาทิ้ง


เอาการเอางานเป็นการปฏิบัติ ทำการทำงานให้ดี ทำหน้าที่ให้ดี เราก็พลอยได้รับอานิสงส์จากสิ่งที่เราทำ สิ่งไหนที่เป็นสิริมงคล สิ่งไหนที่เป็นบุญเราก็ทำ สิ่งไหนที่ไม่เป็นมงคลหรือว่าอกุศล เราก็พยายามละ พยายามดำเนิน จิตใจของเราก็จะเบาบางจากกิเลส จิตใจของเราก็จะอยู่ในพรหมวิหาร อยู่ในความเมตตา ถ้าเราไม่แก้ไขเราแล้ว ไม่มีใครจะแก้ไขให้เราได้เลย


ตามหลักของความเป็นจริง รู้เพียงนิดเดียวเท่านั้นแหละ การเจริญสติเป็นอย่างนี้ การดับ การละ การวิเคราะห์ การแยก อะไรคือสติปัญญา อะไรคือใจ อะไรคืออาการของใจ ใจส่งออกไปภายนอกเป็นลักษณะอย่างนี้ ความหมายเป็นลักษณะอย่างนี้ ชื่อ อาการ หน้าตา เป็นอย่างนี้ เขาเรียกว่าทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นลักษณะอย่างนี้


คำว่า 'ไม่เที่ยง' คำว่าไม่เที่ยง หรือว่าอัตตาอนัตตาเป็นลักษณะอย่างนี้ เพียงแค่นิดเดียวเท่านั้นแหละ ใจมันเริ่มเกิดยังไง เริ่มก่อยังไง เราดับได้ไหม เราละได้ไหม ละได้ตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล เพราะว่าศาสนาของพระพุทธเจ้าเป็นศาสนาที่มีเหตุมีผลที่สุด เหตุผลทางด้านรูป เหตุผลทางด้านนาม เห็นความเกิดความดับ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นยังไง


คำว่าความหมาย ลักษณะอาการเป็นยังไง ขณะนี้จิตใจของเราอยู่ในกองบุญกองกุศลหรือไม่ จิตใจของเรามีพรหมวิหาร หรือว่ามีความตระหนี่เหนียวแน่น เราละกิเลส ละได้ตั้งแต่ต้นเหตุ กลางเหตุ ปลายเหตุ เป็นกุศล เป็นบุญ เป็นประโยชน์มาก ประโยชน์น้อย จะสำรวจตัวเราอยู่ตลอดเวลา จนเป็นอัตโนมัติในการดู ในการรู้ ในการศึกษา ในการทำความเข้าใจ


ก็ต้องพยายาม อย่าไปทิ้งในการทำบุญ อย่าไปทิ้งในความเสียสละ อย่าไปทิ้งในการสร้างความเพียร อย่าให้ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ถ้าความเกียจคร้านเข้าครอบงำแล้วก็ใช้การไม่ได้ น่าละอาย


จงเป็นบุคคลที่กล้าหาญ อาจหาญ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ในสิ่งที่นำความสุขมาให้ นำความสุขมาให้กับตัวเรา แล้วก็นำความสุขมาให้แก่พี่แก่น้อง กับเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน มันถึงจะเกิดประโยชน์ ไม่เสียทีเสียเที่ยวที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วก็มีโอกาสได้พบพระพุทธศาสนา มีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้า ว่ากายของเรานี้แหละก้อนบุญ กายของเรานี่แหละก้อนธรรม


แต่ถ้าใจของเรายังไม่เป็นธรรม กายของเราก็เป็นก้อนโลก กายของเราก็เรียกว่า 'อัตตา' แต่ถ้าใจของเราปล่อยวางได้ เราก็วางใจขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่นี่แหละ เราก็ละกิเลสได้ขณะที่เรายังมีอารมณ์หายใจอยู่นี่แหละ เราก็ยังประโยชน์ได้ขณะที่ยังมีกำลังอยู่นี่แหละ เข้าถึงนิพพานได้ขณะที่ยังเดินได้นี่แหละ พูดได้นี่แหละ ไม่เหลือวิสัย เพราะว่าความเป็นจริงนั้นมีอยู่ ก็ต้องพยายาม ค่อยขัดค่อยเกา ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ แก้ไขตัวเราใหม่ ปรับปรุงตัวเราใหม่


ไม่เข้าถึงวันนี้ วันนี้ เดือนนี้ เดือนหน้า ไม่เข้าถึงจริงๆ ก็จะได้ไปต่อภพหน้า ตราบใดที่จะยังเกิดอยู่ เพราะว่าคนเราเกิดมาเท่าไหร่ก็ตายหมด กายเนื้อแตกดับแต่ใจมันยังไปต่อ ไปก็ขอให้ไปอยู่ในกองบุญกองกุศล อยู่ในคุณงามความดี ก็จะไม่เสียทีเสียเที่ยว ไม่ได้ลำบาก ไม่ได้ตกอับ ไปสร้างงานต่อ


เพราะความตายนี่ คนเราเกิดมาเท่าไหร่ก็ตายกันทุกคนนั่นแหละ ไม่ตายช้าก็ตายเร็ว มารับเอาโลงศพทุกวัน วันนี้ก็แต่เช้า เห็นว่าบ้านโนนม่วงหรือว่าวัดบ้านมารับเอาบางทีตี 2 ตี 3 มาปลุกเอาก็มี มาทุกวันวันละ 2 วันละ 3 บางวันก็ 5 บางวันก็ 6 ความตายมาให้เห็น เราก็จะได้ไปเหมือนกัน ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่ได้ไป


ขอให้ทุกคนจงไหว้พระพร้อมๆ กัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง