หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 24

หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 24
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ผู้บรรยาย
พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร
ชื่อตอน
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 24
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564
ถอดความฉบับเต็ม
หลวงพ่อฝากไว้ ปี 2564 ลำดับที่ 24
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ในวันที่ 6 เมษายน 2564


ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจ ที่วิ่งเข้าวิ่งออกกระทบปลายจมูกของเราให้ชัดเจน แล้วก็ให้ต่อเนื่อง นั่งตามสบายวางกายให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ฟังไปด้วยน้อมสำเหนียกไปด้วย ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเราได้สร้างความรู้ตัวแล้วหรือยัง เรารู้จักคำว่าลักษณะของคำว่า 'สติรู้กาย' รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก อยู่ปัจจุบันธรรมแล้วหรือยัง


ทั้งที่ทุกคนก็ฝักใฝ่ในบุญ ในการสร้างบุญสร้างกุศล มีศรัทธามีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย มีเชื่อบุญเชื่อบาป เชื่อกรรม ฝักใฝ่ในการทำบุญในการให้ทาน ตรงนี้มีอยู่


แต่การทำความเข้าใจกับการสร้างความรู้ตัวหรือว่าเจริญสติให้มีให้เกิดขึ้น เราต้องพยายามสร้างขึ้นมา สร้างความรู้สึกรับรู้ รู้กายแล้วก็ลึกลงไปให้รู้ใจ รู้การเกิดของใจ รู้การเกิดของขันธ์ 5 หรือว่าความคิดนั่นแหละ ความคิดของเราเขาเกิดอย่างไร เขาก่อตัวอย่างไร แล้วก็รู้เท่าทันการเกิดกิเลส ใจของเราเกิดความโลภ ความโกรธ ความอยากอย่างไร เกิดความยินดียินร้ายในสิ่งต่างๆได้อย่างไร การปรุงแต่งของใจ


เราถึงได้มาเจริญสติ หรือว่ามาสร้างผู้รู้เข้าไปอบรมใจของเรา ชี้เหตุชี้ผล จนเห็นเหตุเห็นผล จนใจของเราคลายออกจากขันธ์ 5 ซึ่งเรียกว่า 'แยกรูปแยกนาม' นั่นแหละท่านเรียกว่า 'สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก' ในอริยมรรค ในหนทางเดิน ในข้อแรก เห็นถูกแล้วก็ตามทำความเข้าใจ เราก็จะรู้เรื่องอัตตา อนัตตา รู้เรื่องสมมติ รู้เรื่องวิมุตติ รู้เรื่องหลักของอริยสัจ 4 เข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็จะระลึกนึกถึงคุณของท่าน


หลายร้อยหลายพันปี ท่านก็ค้นพบแล้วก็เอามาจำแนกแจกแจง เอามาเปิดเผยให้สัตว์โลกก็คือพวกมนุษย์เรานี่แหละ ได้ประพฤติได้ปฏิบัติตาม ท่านชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ซึ่งมีอยู่ในกายของเราทุกคนทุกคนก็มีจิตวิญญาณ ทุกคนก็มีกายเนื้อ ท่านถึงให้ทำความเข้าใจเสีย ขณะที่เรายังมีกำลัง ยังมีลมหายใจ


ใจของคนเรานี้หลงมาตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด หลงมาหลายภพหลายชาติ ไม่รู้ว่ากี่ภพกี่ชาติ วนเวียนว่ายตายเกิด จนกระทั่งมาเกิดอยู่ในภพมนุษย์นี่แหละ ท่านถึงให้เจริญสติลงที่กายของเรา แล้วก็พยายามเอาไปใช้ ชี้เหตุชี้ผล ไปควบคุมใจ อบรมใจ จนใจคลายออกจากขันธ์ 5 ได้เมื่อไหร่ นั่นแหละซึ่งเรียกว่า 'คลายความหลง' คลายความหลงคลาย ความยึดมั่นถือมั่น ใจเกิดกิเลสเราก็รู้จักดับ รู้จักละ


แต่ละวันตื่นขึ้นมา เรามีความขยันหมั่นเพียรเพียงพอหรือไม่ เรามีความรับผิดชอบหรือเปล่า ใจของเราเกิดเป็นกุศลหรือว่าอกุศล ใจของเรามีความกังวล มีความฟุ้งซ่านหรือไม่ เราก็รีบ รีบจัดการ รีบแก้ไข ทุกเวลา ทุกขณะ ทุกลมหายใจเข้าออก จนเป็นอัตโนมัติในการดู ในการรู้ ในการทำความเข้าใจ


ไม่ใช่ว่าทำนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ปล่อยทิ้ง ทำจนเป็นอัตโนมัติในการดูในการรู้ ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรคือกองรูป อะไรคือกองนาม กองของขันธ์ 5 เป็นยังไง ที่ท่านว่าเป็นกองเป็นขันธ์ ท่านว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีแต่ความว่างเปล่า แต่พวกเรามองเห็นเป็นกลุ่มเป็นก้อน แยกแยะไม่ได้เพราะว่ากำลังสติที่จะเข้าไปอบรมใจนี่อาจจะมีบ้างเป็นบางช่วง เป็นบางครั้งบางคราว แต่มีไม่ต่อเนื่อง มีไม่ตลอด


ส่วนการเกิดการดับของใจนี่มีกันทุกคน มีกันทุกวัน บางทีอาจจะมีกันทุกนาทีเลยก็ได้ ความคิด ความเกิด เกิดๆ ดับๆ เกิดทางกายเนื้อก็เกิดมาแล้ว เกิดทางด้านจิตวิญญาณนี่เกิดๆ ดับๆ คือการปรุงแต่งของความคิด ใจปรุงแต่งส่งออกไปภายนอก นั่นแหละเขาถึงจะเรียกว่า 'หลักของอริยสัจ' เข้าหลักของอริยสัจ 4 ทันที ใจส่งออกไปภายนอก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป แล้วก็เป็นเรื่องหลายเรื่อง เรื่องอดีต เรื่องอนาคต เป็นกุศลหรือว่าอกุศล บางทีก็มีความโลภ ความโกรธ ความยินดียินร้ายเข้าไปเจือปน เราต้องเจริญสติเข้าไปชี้เหตุชี้ผล


แต่เวลานี้กำลังสติของเรานี่มีน้อย แทบจะไม่มี หรือจะไม่มีเอาเลย เราก็ไปนึก ไปมั่นหมายว่าเอาความคิดเก่าเป็นปัญญาเก่า ว่าเป็นปัญญา ว่าเป็นสติเป็นปัญญาที่แท้จริง อันนั้นเป็นสติปัญญาระดับของโลกียะ ระดับของสมมติ ไม่ใช่สติปัญญาที่จะเข้าไปดับทุกข์ที่ตัวใจของเราได้


นอกจากสติปัญญาที่เราเจริญที่เราสร้างขึ้นมาเอาไปชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุผล รู้เท่ารู้ทัน รู้จักทำความเข้าใจแล้วก็รู้กันรู้แก้ แล้วก็รู้จักเอาไปใช้กับสมมติ อันนี้เรื่องของสมมติ อันนี้เรื่องวิมุตติ ต้องจำแนกแจกแจงออกเห็นเป็นชิ้นเป็นส่วน เป็นกองเป็นขันธ์ ที่พวกเราพากันสวดทำวัตรทุกเช้าทุกเย็นว่า วิญญาณเป็นยังไง ในกายของเราเป็นยังไง อันนั้นก็ไม่เที่ยง อันนี้ก็ไม่เที่ยง คำว่า 'ไม่เที่ยง' คือความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เข้าสู่หลักของอนัตตา


ทุกคนอย่าไปปิดกั้นตัวเราเอง ว่าไม่มีโอกาส ว่าไม่มีเวลา ทุกคนมีเวลาเหมือนกันหมด ทำมากทำน้อยก็พยายามค่อยทำ ค่อยปรับปรุงค่อยแก้ไขจิตใจของเรา ปฏิวัติจิตใจของเรานั่นแหละให้ถูกทาง ดำเนินตามแนวทางอริยมรรคในองค์ 8 ที่พระพุทธองค์ท่านได้ค้นพบ


คำว่า 'อริยมรรค' หนทางเดิน เพียงแค่ข้อแรก เราก็พยายามเจริญสติเข้าไปแยกใจออกจากขันธ์ 5 ท่านถึงจะเรียกว่า 'สัมมาทิฏฐิ' เห็นถูกเสียก่อน เห็นถูกแล้วก็ตามดู ตามรู้ ตามเห็น ตามทำความเข้าใจ ชี้เหตุชี้ผล ทุกสิ่ง ถ้าเราเห็นถูกตั้งแต่ข้อแรก ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะค่อยเห็นถูกตามกันไปหมด ว่าอะไรควรละ อะไรควรเจริญ อะไรควรดำเนิน ไม่ใช่ว่าทำนิดหน่อยแล้วก็ปล่อยปละละเลย ทำทิ้ง มีแต่ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ก็ยากที่จะเข้าใจ


บุคคลที่จะเข้าใจ เข้าถึง ต้องเป็นบุคคลที่ขยันหมั่นเพียรเป็นเลิศ มีความเพียรเป็นเลิศ มีความเสียสละเป็นเลิศ มีความอดทนอดกลั้น รู้จักฝักใฝ่ รู้จักสนใจ รู้จักพินิจพิจารณา รู้จักขัดเกลากิเลส


ใจเกิดความโลภ ละความโลภ ใจเกิดความโกรธ ละความโกรธ ทำในสิ่งตรงกันข้าม ใจเกิดความโกรธก็ให้อภัย อโหสิกรรม มองโลกในทางที่ดีคิดดี พินิจพิจารณาตั้งแต่การเกิดของความคิดของอารมณ์เกิดกายเนื้อ เกิดทางด้านจิตวิญญาณก็ค่อยแก้ไขกันไป เรามีความเกียจคร้านก็พยายามเพิ่มความขยันหมั่นเพียรให้มากขึ้น


เอาล่ะวันนี้ก็ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆ กันพากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง