ตามความเป็นจริง_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 90 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2557

ตามความเป็นจริง_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 90 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2557
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ผู้บรรยาย
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย วัดป่าธรรมอุทยาน)
ชื่อตอน
ตามความเป็นจริง_หลวงพ่อกล้วย ลำดับที่ 90 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2557
บันทึกเสียงเมื่อ
ชุด
ตามความเป็นจริง ชุดที่ 5 (ลำดับที่ 81-98)
ถอดความฉบับเต็ม
ตามความเป็นจริง ลำดับที่ 90
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2557


ขอให้ทุกคนทุกท่านจงเจริญสติ สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจของเราให้ชัดเจน


เพียงแค่รู้กาย รู้การหายใจเข้าออกให้เชื่อมโยง หายใจอย่างไร เราถึงจะหายใจแบบธรรมชาติที่สุด หายใจอย่างไรเราถึงจะรู้ให้เท่าทัน


เพียงแค่สร้างความรู้ตัวให้ช่ำชองให้ชำนาญ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน เราพยายามฝึกความรู้ตัว พลั้งเผลอเราก็เริ่มขึ้นมาใหม่ จนกว่าเราจะรู้ลักษณะของใจ รู้เห็นอาการ การเกิด การดับของใจ เห็นการเกิด การดับของความคิด ของขันธ์ห้า จนใจของเราพลิก แยกรูปแยกนาม คลายออกจากความคิด อบรมใจของเราได้ ส่วนมากก็มีตั้งแต่ใจไปก่อน ความคิดกับใจรวมกันไปก่อน มันก็ถูกอยู่ระดับของสมมตินั่นแหละ บางทีถูกบ้างผิดบ้าง แต่ก็ยังหลงอยู่ เพราะว่าการเกิดของใจ ใจกับขันธ์ห้าเขายังรวมกันอยู่


ขันธ์ห้าเป็นขันธ์เป็นกองอย่างไร ทำไมใจถึงเกิด เราจะอบรมใจของเราได้อย่างไร เราจะละกิเลสได้อย่างไร เราต้องเจริญสติให้เป็นมหาสติ ก่อนที่จะเป็นมหาสติได้ กำลังสติจะเห็นใจคลายออก แยกรูปแยกนาม พลิกหงายจากสมมติไปหาวิมุตติ อันนี้เพียงแค่เริ่มต้น


เพียงแค่เริ่มต้น ถ้ากำลังสติของเราไม่ตามดู เห็นความเกิดความดับ ไม่จัดการกับตัววิญญาณ ไม่จัดการกับตัวใจของเรา ดับความเกิดของเรา มันก็กลับคืนสู่สภาพเดิม ถ้าเราตามดูให้ชัดเจน เราก็จะเห็นความเกิดความดับของขันธ์ห้า เรียกว่า ‘อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา’


ในภาษาธรรมะนั้น เรียกว่า ‘ปฏิจจสมุปบาท’ การเกิด การดับ เห็นการเกิดการดับ เป็นกุศลหรือว่าอกุศล เป็นเรื่องอดีต เรื่องอนาคต ใจของเรารับรู้ เห็นความเป็นจริงว่าเขาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป เห็นความไม่เที่ยงของขันธ์ห้า มันจะลงที่หลักของไตรลักษณ์ หลักของอนัตตา เรื่องเกิดขึ้นแต่ละเรื่อง เรื่องพอจบลงแล้วก็เรื่องใหม่ก็เข้ามาอีก กำลังสติของเรามีไม่เพียงพอ ก็เลยไม่เห็นตรงนี้ ถ้าเห็นตรงนี้แล้ว ตามทำความเข้าใจให้ได้ทุกเรื่องแล้ว กำลังสติจะพุ่งเป็นมหาสติ จากมหาสติก็จะกลายเป็นมหาปัญญา ตามค้นคว้าให้รู้ทุกเรื่อง แล้วเราก็รู้จักละกิเลส ชี้เหตุชี้ผล เห็นเหตุเห็นผล ปรับสภาพใจของเราให้อยู่ในความอ่อนโยน รับรู้หนักแน่น ใจเกิดกิเลสเมื่อไร เราก็พยายามละ พยายามละ


ใจของเราไปเสวยอารมณ์ได้อย่างไร ไปร่วมกับอารมณ์ได้อย่างไร การสร้างบารมีทุกส่วนนั้น ทุกคนมีการสร้างกันมาดีหมดแล้วแหละ แต่การวิเคราะห์ใจคลายออกจากความคิด คลายออกจากขันธ์ห้าตรงนี้เนี่ย ไม่ค่อยจะทันกันเท่าไร ปล่อยปละละเลยกัน ความอยากแม้แต่นิดเดียวยังไม่ให้เกิดขึ้นที่ใจเลย อยากในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง อยากมี อยากเป็น อยากไป ไม่อยากมีอีก ไม่อยากกลับกัน เพราะว่าความเป็นกลาง


เราต้องพยายาม คอยอบรมใจของเราให้ได้ทุกเรื่อง ได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็พยายามทำ


อย่าไปปล่อยปละละเลย แต่ละวันตื่นขึ้นมาความรู้ตัวเป็นยังไง ความรู้ตัวที่ต่อเนื่องนั้นเป็นอย่างไร จะเอาตั้งแต่ปัญญา จะเอาตั้งแต่ธรรม ไม่รู้จักทำ อยากจะได้ตั้งแต่ธรรม แต่ไม่รู้จักลักษณะของการเจริญสติเข้าไปอบรมใจ ถ้าเรารู้ด้วยเห็นด้วย ทำความเข้าใจได้ด้วย เขาจะเป็นของเขาเอง


จะเอา จะมี จะเป็น ก็เป็นเรื่องของปัญญา กายของเราทำหน้าที่อย่างไร ทวารทั้งหกทำหน้าที่อย่างไร ภาษาธรรม ภาษาโลกเป็นอย่างไร เราต้องเห็นให้ชัดเจน มันถึงจะเดินปัญญาได้ ส่วนมากก็ไปด้วยความหลง แต่หลงอยู่ในบุญ หลงอยู่ในสัมมาทิฏฐิ แต่เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นที่ยังไม่ตรง เพราะว่ายังไม่ได้เห็นตัวใจกับความคิดกับอารมณ์ แยกออกจากกัน แล้วก็ละกิเลสที่ใจของเราให้หมดจด


ก็ต้องพยายามนะ เพียงแค่การเจริญสติ ก็ให้ต่อเนื่อง เชื่อมโยงให้ได้เสียก่อนเถอะ สักวันหนึ่งก็คงจะเข้าใจ


สร้างความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจให้ชัดเจนกัน


ไหว้พระพร้อมๆ กัน ค่อยไปสร้างสานต่อเอา ทำความเข้าใจกันเอา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง